สีแรงดึงดูด  ในโลกการตลาด (จบ)    

09 เม.ย. 2564 | 22:30 น.

สีเหลือง: ถือว่ามีความหมายใกล้เคียงกับสีส้ม แต่จะเน้นภาพลักษณ์ของผู้ที่มองโลกในแง่บวก มีความสุข ความร่าเริง มีความมั่นใจ ชัดเจน สีเหลืองเป็นสีที่โดดเด่นมองเห็นได้ง่าย (คุณรู้หรือไม่ว่าสีเหลืองเป็นสีแรกที่ทารกสามารถรับรู้ได้) โดยแบรนด์หรือสินค้าที่ใช้สีเหลืองมีหลากหลายเช่นเดียวกับสีส้ม ตั้งแต่รถยนต์ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ขนม และอาหาร

สีเขียว: แน่นอนว่าสีเขียวสื่อถึงธรรมชาติ ชีวิต ความสงบ การเติบโต หากสินค้าหรือแบรนด์ของคุณเกี่ยวข้องกับสุขภาพและการพักผ่อน หรือต้องการสร้างบรรยากาศรักษ์โลก สีเขียวถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ซึ่งแบรนด์ที่มักใช้สีเขียว เช่น แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่มีนโยบายลดโลกร้อน โรงแรม แอปพลิเคชั่นเพลงออนไลน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮออล์

สีฟ้า: แบรนด์หรือสินค้าที่ต้องการแสดงถึงความเชื่อมั่น ความไว้วางใจควรใช้สีฟ้า เพราะสีฟ้าเป็นหนึ่งในน้อยสีที่กระตุ้นความรู้ทางจิตใจมากกว่ากายภาพ อย่างไรก็ตามสีฟ้าเป็นสีที่ผู้บริโภคมักมองไม่ค่อยเห็น และให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แบรนด์ที่ใช้สีฟ้าส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับโรงพยาบาล ยิม สถาบันการเงิน รวมถึงแบรนด์โซเชียล เน็ตเวิร์ก เนื่องจากสีฟ้ายังหมายถึงความเฉลียวฉลาดและการสื่อสารด้วย

สีม่วง: ถ้าเป็นเรื่องจินตนาการ ความหรูหรา ลึกลับ ให้เลือกใช้สีม่วง แบรนด์ที่ต้องการให้เกิดความสงสัยใคร่รู้สามารถใช้สีม่วงบนตัวอย่างผลิตภัณฑ์และป้ายโฆษณาก่อนวางจำหน่าย ส่วนใหญ่เรามักพบสีม่วงเกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทความงาม และสินค้าสำหรับผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเพศหญิงมักมีอยากรู้อยากเห็น เช่นเดียวกับเด็กๆ 

สีแรงดึงดูด  ในโลกการตลาด (จบ)    

สีชมพู: มักถูกจำกัดความให้เป็นสีสำหรับเพศหญิง เพราะสีชมพูสื่อถึงความอ่อนโยน ความเข้าอกเข้าใจ และความรัก ในปัจจุบันส่วนใหญ่แบรนด์หรือสินค้าที่ใช้สีชมพูจะเป็นแบรนด์ของเล่นเด็กผู้หญิง แบรนด์สำหรับผู้หญิง ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

สีน้ำตาล: ไม่ใช่สีสำหรับแบรนด์หรือสินค้าที่ต้องการความโดดเด่นมากนัก แต่เหมาะสำหรับแบรนด์หรือสินค้าที่ต้องการให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความปลอดภัย ความแข็งแกร่ง และการคัดสรรมาแล้วอย่างดี ดังนั้นเรามักจะเห็นสินค้าประเภทช็อกโกแลต เครื่องหนัง แม้กระทั่งผู้ให้บริการด้านการขนส่ง เลือกใช้สีน้ำตาลบนโลโก้ของตัวเอง

สีดำ: เป็นสีที่พบเห็นได้ทั่วไป อยู่ในรายละเอียดของโลโก้หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพราะสีดำสื่อถึงความช่ำชอง อิสระความมั่นใจ ความฉลาด หรูหรา และความแข็งแกร่ง สีดำเป็นสีที่ต้องระวังในการใช้ เพราะหากใช้สีดำมากเกินไปอาจสร้างความรู้สึกไม่ดี แบรนด์สินค้าไฮเอนด์ส่วนใหญ่จะใช้สีดำบนโลโก้ ซึ่งมักจะเป็นตัวอักษร มีพื้นที่ให้สีขาวมาตัด 

สีขาว: หมายถึงความบริสุทธิ์ อ่อนโยน สะอาด สงบ ปลอดภัย และธรรมชาติ แต่การเลือกใช้สีขาวเพียงอย่างเดียวมักทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ หากเป็นโลโก้มักใช้สีอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะการนำสีขาวและสีแดงมาใช้บนโลโก้เพื่อให้เกิดความสมดุล หรือสีขาวกับสีดำ เป็นต้น

ทั้งนี้การเลือกใช้สีในการสื่อสารการตลาดต้องคำนึงว่า มนุษย์อาจมีความรู้สึกและการรับรู้ต่อสีแต่ละสีแตกต่างกัน ขึ้นกับประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ยกตัวอย่าง บางคนชอบสีเหลือง บางคนไม่ชอบสีดำ เพราะเป็นสีโปรดของคนที่ตัวเองไม่ชอบ สิ่งเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกต่อสีต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม “สี” ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภค และแสดงจุดยืนของแบรนด์ ดังนั้นหากคุณเป็นนักการตลาดหรือนักออกแบบ อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องสี อย่างน้อยตามทฤษฎีความหมายสีด้านบนก็ได้ 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :