รัสเซีย-จีน เผยมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเป็นเรื่องอันตราย

06 เม.ย. 2564 | 21:51 น.

กต.รัสเซียย้ำชัด ไม่เอาด้วยกับมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา อ้างอาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง ขณะที่จีนออกตัว ไม่เห็นด้วยกับการกดดันและคว่ำบาตรเมียนมาเช่นกัน 

กระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ระบุวานนี้ (6 เม.ย.) ว่า การใช้ มาตรการคว่ำบาตร เพื่อเป็นเครื่องมือกดดัน รัฐบาลทหารเมียนมา นั้นเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์และ “อันตรายมาก”  เนื่องจากอาจทำให้เมียนมาเกิด สงครามกลางเมือง เมื่อชาวเมียนมาต้องแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังชาติตะวันตกได้ออกมาประณามกองทัพเมียนมาอย่างรุนแรงและมีการประกาศคว่ำบาตรตามมา หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และจนถึงขณะนี้ การปราบปราม-สลายการชุมนุมได้ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่า 570 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 47 ราย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลรัสเซียเคยออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่กองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารประชาชนไปแล้วหลายร้อยคน อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้พบปะกับนายพลมิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารและผู้บัญชาการกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ารัสเซียสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา

แม้ถูกปราบปรามอย่างหนักแต่การชุมนุมยังคงเกิดขึ้นรายวัน

การชุมนุมยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องแต่มีขนาดเล็กลง

 

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาพยายามที่จะสกัดกั้นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารโดยได้สั่งปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและออกหมายจับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารผ่านทางออนไลน์ ขณะที่การชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่นั้นเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากถูกปราบปรามอย่างเฉียบขาดรุนแรงโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง และมีการประกาศเคอร์ฟิวในหลายพื้นที่

แม้กระนั้น ประชาชนเมียนมาที่ต่อต้านการก่อรัฐประหารก็ยังคงออกมาเดินขบวนประท้วงรายวันในเมืองต่างๆทั่วประเทศ โดยใช้วิธีจัดการชุมนุม “แบบกองโจร” ซึ่งเป็นการรวมตัวประท้วงขนาดเล็กและสลายตัวอย่างรวดเร็วก่อนที่กองกำลังรักษาความมั่นคงจะสามารถตอบโต้ได้

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศจีน หลังจากมีการเรียกร้องจากสหรัฐเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า จีนควรใช้อิทธิพลจัดการกับคณะบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบการทำรัฐประหารในเมียนมา ฝ่ายจีนได้มีถ้อยแถลงตอบกลับข้อเรียกร้องดังกล่าวออกมาแล้วว่า  จีนต้องการเห็นเมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่จะไม่ขอใช้มาตรการคว่ำบาตรใดๆ ต่อพันธมิตรที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านรายนี้

เห็นได้ชัดว่า ขณะนี้บรรดาชาติตะวันตกจำนวนมากได้ประณามอย่างรุนแรงต่อการทำรัฐประหารในเมียนมา แต่จีนกลับแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง และพยายามเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสถียรภาพในเมียนมามากกว่าการใช้มาตรการกดดันต่าง ๆ   

ท่าทีของจีนทำให้หลายครั้งที่มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา จะมีการรวมตัวชุมนุมบริเวณด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตจีนในเมืองย่างกุ้งด้วย โดยผู้ประท้วงกล่าวหารัฐบาลปักกิ่งให้การสนับสนุนคณะรัฐประหาร และขณะเดียวกันธุรกิจ-การลงทุนของจีนในเมียนมา ก็ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยเหตุผลเดียวกันนั้นด้วย

มีข่าวลือแพร่ระบาดบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าจีนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาปฏิเสธโดยสิ้นเชิง และระบุว่าการกล่าวหาเช่นนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ

ความเคลื่อนไหวกดดันจีนของสหรัฐมีขึ้นหลังจากสหรัฐกำหนดมาตรการคว่ำบาตรบรรดานายพลที่เป็นสมาชิกคณะรัฐประหารของพม่าไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงผู้บัญชาการตำรวจ ทหาร 2 กองพล และกลุ่มบริษัทที่ควบคุมโดยกองทัพพม่า

จีนแสดงจุดยืนว่า ต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาที่เวลานี้ปกครองโดยทหาร แต่ยืนยันระหว่างประชุมวาระพิเศษของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการคว่ำบาตร

นายจาง จุน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ

"จีนหวังว่าเมียนมาจะคืนสู่สันติภาพ เสถียรภาพ และระบอบรัฐธรรมนูญ อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสานต่อความก้าวหน้าในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง" นายจาง จุน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ของจีนกล่าวในที่ประชุมลับของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งสื่อต่างประเทศนำมาเปิดเผย

ทั้งนี้ ผู้แทนของจีนในยูเอ็นให้เหตุผลตอกย้ำจุดยืนของจีนต่อกรณีของเมียนมาด้วยว่า การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาคือผลประโยชน์ร่วมของประชาคมโลก ซึ่งหากเมียนมาถลำลึกสู่ความยุ่งเหยิงยืดเยื้อ ก็จะเป็น “หายนะ” ทั้งต่อเมียนมาเองและต่อทั้งภูมิภาคในภาพรวม

"แรงกดดันและเสียงเรียกร้องให้คว่ำบาตร หรือใช้มาตรการบีบบังคับอื่น ๆ รังแต่จะซ้ำเติมความตึงเครียดและการเผชิญหน้า ทั้งยังจะก่อความซับซ้อนยุ่งยากเพิ่มเติมให้กับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่สร้างสรรค์แต่อย่างใด" เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็นให้ความเห็น และยังกล่าวถึงอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า จีนชื่นชมในความพยายามของอาเซียน ที่กำลังดำเนินการไกล่เกลี่ยประนีประนอมในแบบของอาเซียนและมีบทบาทในเชิงบวกในการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา

"จีนหวังว่าทุกฝ่ายในพม่าจะอยู่ในความสงบ อดทนอดกลั้น และดำเนินการต่างๆ ในทัศนคติที่สร้างสรรค์เพื่อลดความตึงเครียด และผ่อนปรนสถานการณ์ให้เย็นลง" นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวเมียนมาควรได้รับการปกป้อง เช่นเดียวกับพลเมืองและธุรกิจของต่างชาติเมียนมา ที่ควรได้รับการปกป้อง ซึ่งในทัศนะของจีนเห็นว่า การโจมตีใดๆที่พุ่งเป้ายังธุรกิจของต่างชาติในเมียนมา เป็นสิ่งที่จีนไม่อาจยอมรับได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทนายเผย "อองซาน ซูจี" โดนอีก 1 ข้อหาใหม่ รวมเป็น 5 ข้อหาแล้วในขณะนี้

จับตาจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” เมียนมา

บอมบ์กะเหรี่ยงตายเพียบหวังเปิดทางส่งเสบียงฐานทหารเมียนมา

สาละวินเดือด"เมียนมา"เอาคืนบินถล่มฐานที่ถูก"KNU"ยึด

"เมียวดี"ตึงเครียด กะเหรี่ยงเคลื่อนพลคุ้มครองม็อบต้านรัฐประหารเมียนมา