“ไอ้โม่ง”กั๊กวัคซีนโควิด? ทำไม“มีคนลัดคิว-ฉีดช้า”

06 เม.ย. 2564 | 10:30 น.

“ไอ้โม่ง”กั๊กวัคซีนโควิด? ทำไม“มีคนลัดคิว-ฉีดช้า” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3668 หน้า 6 ระหว่างวันที่8-10 เม.ย.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ถึงตอนนี้ประเทศไทยมีวัคซีนไวรัสโควิด-19 ที่กำลังกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ ราว 1.17 ล้านโดส จากรอบแรก 2 ล้านโดส ซึ่งตามแผนการณ์ที่ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 เคยประกาศไว้ว่า จะจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่เป้าหมายในระยะเร่งด่วน ช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.2564 จะกระจายใน 10 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ที่มีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน ดำเนินการเร่งฉีด ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย...

1. สมุทรสาคร 8.2 แสนโดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน
2. กรุงเทพฯ 8 แสนโดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 1แสน คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน ประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6 แสนคน
3. นนทบุรี 26,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
4. ปทุมธานี 26,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
5. สมุทรปราการ 28,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน 
6. ระยอง 18,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 
7. ชลบุรี 28,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
8. จันทบุรี 16,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน
9. ตราด 12,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน
10. ตาก 1.6 แสนโดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 10,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน

รวมการฉีดวัคซีนระยะแรก 1,934,000 โดส จำนวน 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดสนั้น จะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น เพื่อเป็นการสกัดวงการแพร่เชื้อ!

ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 61 ล้านโดส จะดำเนินการกระจายในช่วงเดือนมิ.ย.และให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 มีอัตราการฉีดในรพ.ที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่เมื่อวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้นอาจพิจารณาขยายการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำล (รพ.สต.) ที่มีอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพ เป็นผู้ฉีดให้ประชาชน

แต่ข้อมูลล่าสุดการฉีดวัคซีนในประเทศต้องบอกว่า การฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าแผนมากแค่ 224,254 โดส เฉลี่ยมีอัตราการฉีดแค่วันละ 13,400 โดสต่อวัน ถ้าคิดจากอัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีน/ประชากร 100 คนอยู่ที่ 0.2/100 คน

ถ้าคิดจาก ร้อยละของประชากรที่ฉีดวัคซีน 1+ โดส จะตกประมาณ 0.3% และหากคิดจาก ร้อยละของประชากรที่ฉีดวัคซีน 2 โดส จะอยู่ที่ 0.1% และถ้าคิดสัดส่วนจากยอดผู้ฉีดวัคซีนโควิด COVID-19 จากทั่วโลก ประเทศไทยจะอยู่ในอันดับ 79 ของโลก ต่ำกว่ากัมพูชาที่อยู่ในอันดับ 73 มีการฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 296,149 คน ต่ำกว่าอินโดนีเซียที่มีการฉีดไปแล้ว 12,649,124 คน โดยมีอัตราการฉีดต่อวัน 293,808 คน
 



ขณะที่ในเดือน พ.ค.2564 วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ล็อตใหญ่ 5 ล้านโดส จะถูกส่งมาถึงประเทศไทย ล็อตดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองคิวเข้ารับการฉีดวัคซีนผ่านระบบไลน์และแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม”

คำถามคือ ความสามารถในการฉีดวัคซีนโควิดของไทยช้าหรือไม่ และทำไมเป็นเช่นนั้น!

คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข โต้ว่า ที่มีเสียงทักท้วงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ สธ.ไร้ประสิทธิภาพ มีวัคซีนค้างสต๊อกอยู่ 1 ล้านโดส ว่า “เลอะเทอะ! ขณะนี้วัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยมี 1 ล้านโดส จาก ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ในเดือนเมษายนนี้ จะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 1 ล้านโดส เดือนมิถุนายน วัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะเริ่มทยอยนำฉีดให้กับประชาชน”

“ขณะนี้มีวัคซีนเข้ามาแล้ว ควรจะพูดแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่เป็นมงคล ไม่ใช่มองหาความผิด ความบกพร่อง ซึ่งทุกวันนี้ สธ.ก็ได้เร่งฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้เร็วที่สุด เพราะยังมีล็อตใหญ่จะทยอยมาอีก 10 ล้านโดสต่อเดือน เนื่องจากวัคซีนมีอายุการใช้งาน เก็บนานไม่ได้ การฉีดวัคซีนในประเทศ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานว่าสามารถฉีดได้ตามเป้าหมาย เราก็มีการปรับแผนกระจายวัคซีนไปในเมืองท่องเที่ยว และจังหวัดแนวชายแดน เช่น จ.ภูเก็ต อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง บุคลากรสาธารณสุข อสม. ที่ปฏิบัติงาน วันนี้มีวัคซีนเข้ามาแล้ว มีแต่เรื่องดีๆ ต้องให้กำลังใจ อย่ากวนน้ำให้ขุ่น ต้องใช้กำลังกาย กำลังใจส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คิดแต่เรื่องดีๆ สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น” ท่านรองนายกฯและรมว.สธ.ว่าเช่นนั้นครับ!
 

ผมก็ไม่อยากกวนน้ำให้ขุ่น และพยายามมองโลกในแง่ดี แต่ถามว่า ช้าหรือไม่ ผมว่า ช้าครับ ถ้าเรามีวัคซีนมา 1 ล้านโดส แล้วฉีดได้แค่ 224,254 โดส เฉลี่ยมีอัตราการฉีดแค่วันละ 13,400 โดส มันน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และความมุ่งหวังของผู้คนที่ต้องการวัคซีน เพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาดและสร้างภูมิคุ้มกัน

ปัญหาที่ผมหยิบยกมาคือ ความล่าช้าในการปฏิบัติเกิดขึ้นจากอะไร? ขนาดคุณกลินทร์ สารสิน อดีตประธานหอการค้าไทย ยังบอกว่าช้ามาก แล้วคนระดับรองนายกฯว่าไม่ช้า เลอะเทอะ ผมก็ไม่รู้ว่าอย่างไร 

ความล่าช้านั้นเพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ จำนวนอุปกรณ์ที่มีไม่พอ ตู้แช่เย็นวัคซีนที่ต้องการอุณหภูมิมีไม่พร้อม หรือมีใครกั๊กวัคซีนไว้ หรือเพื่อการหนึ่งการใด!

เรื่องแบบนี้ รองนายกฯและรัฐมนตรี สธ.ต้องติดตามแบบเรียลไทม์ และต้องหาทางแก้ไขครับ เพราะ “วัคซีนกับการแพร่ระบาดของโควิด” คือ เดิมพันแห่งชีวิตของผู้คนในประเทศไทย และเป็นเดิมพันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยครับ

หากนับตั้งแต่วันที่วัคซีนชุดแรกมาถึงประเทศไทย ถึงวันนี้น่าจะ 40 วัน เข้าไปแล้ว  ผมว่า ถ้าฉีดวัคซีนตามแผนที่กำหนดไว้ ฉีดกันแค่วันละ 13,400 คน นี่แหละจะตก 536,000 โดสแล้วครับ ถ้าหักวันหยุดไป อย่างน้อย 4 แสนโดสครับ 



ผมทราบดีว่า การดำเนินงานให้วัคซีนโควิด-19 แก่กลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมากและภายในระยะเวลาที่จำกัด การเตรียมทีมทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ จัดระเบียบการทำงาน แต่ผมทราบว่า “คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย” และ “คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” ได้กำหนดกรอบการทำงานไว้ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ โน่นแนะ....

1. ระดับจังหวัด มีข้อสั่งการของปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้จังหวัดได้มีกลไกในการบริหารจัดการและกำกับติดตาม โดยให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่ออำนวยการ บริหารจัดการ การให้วัคซีนโควิด 19 ในระดับจังหวัด โดยสามารถพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและ/หรือคณะทำงานตามความเหมาะสม 

2. ระดับหน่วยบริการ มีคำสั่งตั้ง 5 ทีม 1) ทีมลงทะเบียน/นัดหมาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เวชระเบียน หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่ลงทะเบียนจองสิทธิ์การฉีดวัคซีน รวมถึงการลงนัดหมายวันที่รับบริการฉีดวัคซีน ระบบลงทะเบียนที่โรงพยาบาล ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์รับวัคซีน เข็มที่ 1 และนัดหมายวันที่ฉีดวัคซีน เข็มที่ 2 

กำหนดลงลึกขนาดว่าต้องจัดให้มีการตั้งจุดลงทะเบียน/นัดหมายเฉพาะในส่วนของการฉีดวัคซีนโควิด 19 แยกออกจาก จุดลงทะเบียนปกติของโรงพยาบาลเชียวครับ

2) ทีมจัดส่งและจัดเก็บวัคซีนในระบบลูกโช่ความเย็น ประกอบด้วย เภสัชกร และเจ้าพนักงานเภสัชกรรมที่รับผิดชอบการบริหารจัดการวัคซีนและระบบลูกโซ่ความเย็น ทำหน้าที่ตรวจรับวัคซีนโควิด 19 จากองค์การเภสัชกรรม จัดเก็บและรักษาวัคซีนภายใต้ระบบลูกโซ่ความเย็นที่คลังวัคซีนระดับอำเภอ จัดทำบัญชีรับ-จ่ายวัคซีนโควิด 19 ให้กับทีมให้บริการ 

3) ทีมให้บริการ ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ที่ทำหน้าที่ในการเตรียมกลุ่มเป้าหมาย เตรียมสถานที่ เบิกวัคซีน ตรวจสอบและคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย จัดลำดับในการฉีดวัคซีน ตรวจสอบการบันทึกอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน เฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 30 นาที จัดเก็บวัคซีนที่เปิดใช้แล้วในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ +2 ถึง +8 องศาเซลเซียส และจัดการขยะติดเชื้อ

4) ทีมเฝ้าระวังและตอบโต้อาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ดำเนินการในการเฝ้าระวังและตอบโต้อาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน

5) ทีมบริหารจัดการและติดตามผล ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ และบุคลากรของโรงพยาบาลและหน่วยบริการในระดับตำบลที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่ ติดตามผลการให้บริการ และความปลอดภัยของวัคซีน
 

นอกจากนี้ ยังกำหนดการฉีดวัคซีนไว้ชัดเจนว่า ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด จะฉีดวัคซีนให้ 3 กลุ่มหลัก  

1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ “แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย นักเทคนิคการแพทย์เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโควิด 19 เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อผู้ป่วยโควิด 19 (เช่น  เวรเปล เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดหอพักผู้ป่วย เจ้าหน้าที่แผนกซักฟอกในโรงพยาบาล) เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ที่ในสถานที่กักกัน อสม./ อสต. ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด 19 ฯลฯ”

2. บุคคลที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดีโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วน ที่มีน้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

3. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโรคชายแดน เป็นต้น 

ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น จะฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมใน 5 กลุ่ม 1.กลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้า ผู้ประกอบอาชีพภาคการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์ นักกีฬา 2.กลุ่มผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ 3.กลุ่มประชาชนทั่วไป  4.กลุ่มนักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจต่างชาติ คนต่างชาติพำนักระยะยาว 5. กลุ่มแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ

นี่คือหลักเกณฑ์ที่ “คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19” ของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ .....

แต่ในความเป็นจริงนั้น มีการดำเนินการเช่นนี้หรือไม่ ทำไมจึงมีกลุ่มผู้คนที่ไม่อยู่ในคิวจำนวนมาก เป็นผู้ได้รับการฉีดวัคซีนก่อนคนอื่นละครับ

ทำไมจึงมี “บรรดาขาใหญ่-นักการเมือง-เศรษฐีผู้ร่ำรวย-กลุ่มเครือข่ายพรรคพวก” เป็นกลุ่มผู้ได้รับฉีดวัคซีนก่อนคนอื่นครับ

ท่านทราบหรือไม่ว่า ขณะนี้มีการนัดรวมพลคนมีพรรคพวกกันไปฉีดวัคซีนโควิดกันในสถานพยาบาล แซงหน้ากลุ่มเป้าหมายที่ท่านวางไว้แทบทุกพื้นที่...

คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ช่วยตอบคำถามที่คาใจผู้คนหน่อยสิครับ ทำไมจึงมีอภิสิทธิ์ชนได้รับวัคซีนไปครับ!