‘พลังประชารัฐ’เคาะแก้รธน. ไม่แตะอำนาจส.ว. ปชป.รื้อโหวตนายกฯ

02 เม.ย. 2564 | 04:15 น.

พปชร.เคาะแก้รธน. 5 ประเด็น ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ทำประชามติ ไม่ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ อ้างกลัวแก้ไขไม่สำเร็จ ด้าน ปชป.ย้ำแก้ ม.256 - รื้อส.ว. 

หลายพรรคการเมืองเริ่มตกผลึกในประเด็นที่เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ” ได้สรุปจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ใน 5 ประเด็น 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า พรรคเตรียมที่จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา ในวันที่ 7 เม.ย. 2564 นี้ โดยเป็นร่างแก้ไขของพลังประชารัฐพรรคเดียว ใช้เสียง ส.ส. 100 คน ขึ้นไปยื่นแก้ไข ทั้งหมด 5 ประเด็น 13 มาตรา 

“เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จ คาดว่ารัฐสภาจะพิจารณาแก้ไข และเห็นชอบในวาระ 3 ในช่วงปลายเดือนก.ค. ซึ่งไม่ต้องทำประชามติ”  

 

พปชร.ไม่แตะ ส.ว.

นายไพบูลย์ เปิดเผยด้วยว่า ประเด็นที่แก้ไข เช่น

1. ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว จะแก้ไขเป็นบัตร 2 ใบ คือ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน

2. มาตรา 29 เพิ่มสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน และสิทธิชุมชนจะให้รัฐจัดให้มีทนายความในการต่อสู้คดีกับภาครัฐ    

3. มาตรา 144 ปรับปรุงเกี่ยวกับการเข้าไปใช้งบประมาณของประเทศให้มีความยืนหยุ่นเพิ่มขึ้น โดยกลับไปใช้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550  

4. มาตรา 185 ผ่อนคลายให้ ส.ส. สามารถเข้าไปติดตามข้าราชการ และช่วยเหลือความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น

5. มาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล แก้ไขให้รัฐสภา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าไปติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่ให้ ส.ว.ดำเนินการเพียงลำพัง

 

‘พลังประชารัฐ’เคาะแก้รธน.  ไม่แตะอำนาจส.ว. ปชป.รื้อโหวตนายกฯ

 

“เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พรรคพลังประชารัฐ จะตอบโจทย์ของปัญหาของประเทศร่วมกัน และสามารถแก้ไขให้ประชาชนได้จริง ใช้เวลาสั้น และไม่ต้องเสียงบประมาณทำประชามติ” 

ส่วนประเด็นเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. อาทิ ยกเลิกส.ว.สรรหา หรือ อำนาจการเลือกนายกฯ พรรคพลังประชารัฐยังไม่แก้ไข เพราะหากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง และไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ

ด้านนางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐ ได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช... ฉบับสมบูรณ์แล้ว โดยเตรียมที่จะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ต่อที่ประชุมสภาในวันที่ 7 เม.ย. 2564 นี้

“พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อกระบวนการที่ผ่านมา ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญ วันนี้พรรคเองก็พร้อม ที่จะหาทางออกประเทศด้วยการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราในทางที่ไม่ขัดกับกฎหมาย และความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ” 

 

ปชป.รื้อส.ว.โหวตนายกฯ

ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทีมกฎหมายของพรรคได้ยกร่างร่างเสร็จแล้ว ทั้งในประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 รวมไปถึงในเรื่องอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสมาชิก 

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถัดจากนี้ในช่วงเปิดสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ จะได้นำไปขอเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลในเบื้องต้นต่อไป ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส.ทุกคนได้มาร่วมกันลงชื่อ เพื่อจะนำไปเสนอต่อประธานรัฐสภา ในการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป

“ผมยืนยันอีกรอบหนึ่งว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศจะต้องเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เราจะทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน นั่นคือขณะที่เรากำลังแก้ปัญหาการเมือง ก็จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย เพราะทั้ง 2 อย่างนี้เอื้อ และมีผลต่อกัน ถ้าการเมืองไม่นิ่ง มีคนชุมนุมอยู่เต็มถนน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ยากที่จะดำเนินการ ไปได้ด้วยความราบรื่นและประสบความสำเร็จได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งเป็นแนวทางของประชาธิปัตย์ที่มีความชัดเจน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

 

กมธ.เคาะ ‘1 หมื่นคน’ เสนอทำประชามติ

กมธ.เคาะ 10,000 คน เสนอเรื่องต่อครม.ทำประชามติ ชงเข้ารัฐสภา 7-8 เม.ย.นี้ เห็นพ้องไม่ต้องส่งศาลรธน.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา เปิดเผยว่า การพิจารณาเนื้อหาตามที่กฤษฎีกาปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่เพิ่มเนื้อหาให้สิทธิ์ประชาชนและรัฐสภาเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติ จะแล้วเสร็จวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ และเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาได้วันที่ 7-8 เม.ย.

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ กล่าวว่า ถึงแม้อำนาจชี้ขาดการทำประชามติขึ้นอยู่กับ ครม.เหมือนเดิม แต่การแก้ไข มาตรา 9 ครั้งนี้ อย่างน้อยก็เป็นการเปิดทางให้รัฐสภาและประชาชนเป็นผู้เสนอเรื่องที่จะทำประชามติได้ ซึ่งแตกต่างจากของเดิมที่ให้อำนาจเฉพาะครม.เป็นผู้ริเริ่มเท่านั้น 

“ถ้าครม.จะไม่ทำประชามติตามที่ประชาชนเข้าชื่อ ครม.ก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงจำนวนประชาชนที่จะเข้าชื่อ ซึ่งมีการเสนอตั้งแต่ 10,000 คน 50,000 คน และไม่จำกัดจำนวน ซึ่งที่สุดแล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบจำนวนประชาชนให้เข้าชื่อ 10,000 คน”

ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.กล่าวถึงภาพรวมการประชุมกรรมาธิการฯ ว่า ทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย เป็นไปด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี และเป้าหมายของทุกคนเห็นตรงกันว่า ต้องการให้กฎหมายประชามติผ่านไปได้ และสามารถนำมาบังคับใช้ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงพยายามหาทางออกร่วมกันลดข้อขัดแย้งหรือประเด็นที่เป็นปัญหาให้มากที่สุด 

การประชุมในช่วงเช้า ได้มีการแสดงความเห็นตามกรอบของมาตรา 9 และมาตรา 11 ที่จะแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่กฤษฎีกาปรับแก้นั้น ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ตามที่มีการแก้ไขมามาตรา จะลดประเด็นปัญหาเรื่องมาตรา 9 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาในมาตรา 11 สามารถเป็นที่ยอมรับกันได้ พร้อมทั้งเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวลดปัญหาที่ถูกมองว่าก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ลงได้

นายวันชัย ชี้ว่า ร่างกฎหมายประชามติฉบับนี้ น่าจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 และไม่น่ามีปัญหาการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะไม่มีข้อขัดแย้งในกฎหมายแล้ว 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,667 หน้า 12 วันที่ 4 - 7 เมษายน 2564