ผู้ชุมนุมในเมียนมาต่อต้านรัฐบาลทหารด้วย “กองขยะ” บนทางแพร่ง อีกรูปแบบของ "อารยะขัดขืน"

30 มี.ค. 2564 | 13:19 น.

อีกสัญลักษณ์ของ “อารยะขัดขืน”ต่อต้านเผด็จการทหารที่ถูกนำมาใช้ในเมียนมาวันนี้คือ ขยะกองพะเนินตามทางแยกและทุกหนแห่งในเมืองย่างกุ้ง

ผู้ชุมนุมประท้วง ต่อต้าน รัฐบาลทหารในเมียนมา หันใช้ ยุทธวิธีอารยะขัดขืน ทุกรูปแบบ และหนึ่งรูปแบบที่ถูกนำมาใช้ในวันนี้เรียกว่า “garbage strike” หรือ การประท้วงด้วย “ขยะ” ที่กองเกลื่อนถนนและกระจัดกระจายไปทั่วบ้านทั่วเมือง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันนี้ (30 มี.ค.) ว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมาได้ยิงชายคนหนึ่งเสียชีวิตในหมู่บ้านทางภาคใต้ขณะเข้าปราบปรามและสลายการชุมนุมตามท้องถนนในเมือง Kawthaung ขณะที่ชายอีกคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเมือง Myitkyina ทางภาคเหนือ

ผู้ชุมนุมในเมียนมาต่อต้านรัฐบาลทหารด้วย “กองขยะ” บนทางแพร่ง อีกรูปแบบของ "อารยะขัดขืน"

 

สถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงและบานปลายขึ้นเรื่อย ๆนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในเมียนมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกองทัพซึ่งเป็นผู้ก่อการยึดอำนาจได้จับกุมและกักตัวบุคคลสำคัญในรัฐบาลพลเรือนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามประชาชนจนถึงขณะนี้ในเวลาเพียง 2 เดือนมีพลเรือนที่เสียชีวิตเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมประท้วงจำนวนอย่างน้อย 512 ราย  ในจำนวนนี้ 141 รายเพิ่งถูกสังหารในการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มี.ค.) ซึ่งนับเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการชุมนุมประท้วง (ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ AAPP ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไร)

นอกเหนือจากการชุมนุมประท้วงของประชาชนแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวคู่ขนานคือกระแสการอารยะขัดขืนทุกรูปแบบเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องชะงักงันเพราะมีการหยุดงานประท้วงของบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ และล่าสุดวันนี้ (30 มี.ค.) ผู้ประท้วงได้ยกระดับการอารยะขัดขืนด้วยการขอให้ประชาชนนำขยะมากองไว้ตามทางแยกบนท้องถนนในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงและยังคงความสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการลงทุน

มีการเชิญชวนประชาชนผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียว่า การประท้วงด้วยขยะคือการประท้วงเพื่อแสดงการต่อต้านกองทัพเมียนมา “ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมการประท้วงนี้” ข้อความในโซเชียลมีเดียระบุ นอกจากนี้ยังมีการแชร์ภาพขยะในกองอยู่ในที่ต่าง ๆ ขณะที่ในหลายจังหวัดทั่วเมียนมายังคงมีการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการปราบปรามอย่างดุเดือด

โดยรายงานข่าวระบุว่า เฉพาะเมื่อวานนี้ (จันทร์ที่ 29 มี.ค.) มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มอีก 14 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง 8 รายในเมืองดาโกงซึ่งอยู่ติดกับเมืองย่างกุ้ง เป็นที่ที่มีการสลายการชุมนุมอย่างดุเดือดโดยสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเมียนมารายงานว่า กองกำลังความมั่นคงได้ใช้อาวุธปราบจลาจลเพื่อสลายการชุมนุมโดยกลุ่มคนที่สื่อของทางการเรียกว่า ผู้ก่อการร้ายที่ใช้ความรุนแรง  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียนมาหมิ่นเหม่เข้าสู่ภาวะกลียุค ใกล้เป็น "รัฐล้มเหลว" ที่ลุกโชน "ไฟสงครามกลางเมือง"

KNU รุกหนัก ยึดฐานทหารเมียนมาได้อีกรวม 2 ฐาน

‘เมียนมา’แรง ธุรกิจไทยอัมพาต ต่างชาติถอนลงทุน

สหรัฐ-ญี่ปุ่นร่วมอีก 10 ประเทศประณามกองทัพเมียนมากระทำรุนแรงผู้ชุมนุม

วิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรงตั้งเค้าในเมียนมา ราคาอาหาร-เชื้อเพลิงพุ่งติดจรวดหลังรัฐประหาร