"ยาสูบ" ลุ้นกฤษฎีกาปลดล็อก ลุยปลูก "กัญชง" ส.ค.นี้

29 มี.ค. 2564 | 05:45 น.

ผู้ว่ายาสูบฯ ลุ้นสัปดาห์นี้ชัดเจน กฤษฎีกา ปลดล็อกยาสูบฯ ทำกัญชง-กัญชาเชิงพาณิชย์ ชี้หากผ่านฉลุย ลุยเปิดลงทะเบียนชาวไร่หลังสงกรานต์ และเริ่มปลูกกัญชงล็อตแรกสิงหาคมนี้

นายภาณุพล  รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)​เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ปลูกพืชกัญชง-กัญชา เป็นพืชเสริม  โดยคาดว่าในสัปดาห์นี้จะได้ความชัดเจนจากกฤษฎีกา และ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)​ ว่า ยสท. มีขอบเขตอำนาจในการดำเนินการดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งยังเตรียมหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม กรมแพทย์แผนไทย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถึงแนวทางในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เพิ่มเติมจากที่คุยเบื้องต้นไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้หากกฤษฎีกาตีความชัดเจนแล้ว คาดว่าหลังสงกรานต์ ยสท. จะเริ่มเปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่เป็นเครือข่ายของ ยสท. ได้ลงทะเบียนเพื่อปลูกกัญชง-กัญชาเป็นพืชเสริมได้ และจะสามารถเริ่มปลูกได้ช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่  โดยช่วงแรกจะเป็นการสนับสนุนการปลูกพืชกัญชงก่อน เนื่องจากตลาดกัญชงกว้างกว่า มีมูลค่าตลาดเป็นแสนล้านบาท ขณะที่กัญชาจะใช้ได้เฉพาะทางการแพทย์ 

“2 สัปดาห์แรกหลังกฤษฎีกาตีความชัดเจน จะมีการหารือกับนักวิชาการและพูดคุยกับชาวไร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะจากชาวไร่รุ่นใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางที่จะเดินร่วมกัน ยาสูบไม่ได้มองว่าจะมีกำไรหรือไม่ เพราะจะไม่มีการนำพืชพวกนี้มาใช้กับบุหรี่เด็ดขาด ยกเว้นมีใครจ้างยาสูบผลิตสำหรับใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าส่งไปต่างประเทศ ซึ่งยังต้องดูเรื่องกฎหมายว่ายาสูบสามารถทำได้หรือไม่เพราะมีเรื่องของการส่งออก แต่จะไม่มีการใช้ใบบุหรี่ในประเทศแน่นอน ซึ่งจะใช้ในเรื่องการแพทย์ เรื่องเส้นใยเท่านั้น”  ผู้ว่าการ ยสท. กล่าว    

ภาณุพล  รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามผู้ว่าการ ยสท.กล่าวว่า ในการส่งเสริมให้ชาวไร่ได้ปลูกพืชกัญชง-กัญชา จะต้องมีการประกันราคาผลผลิตให้ชาวไร่ด้วย ซึ่งผู้ที่จะกำหนดราคาจะต้องรอดูความชัดเจนจากกฤษฎีกาอีกครั้ง  ทั้งนี้ที่ผ่านมา ยสท. ได้หารือร่วมกับองค์การต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมตลาดรองรับผลผลิตกัญชง-กัญชา รวมทั้งหารือกับสถาบันการเงินเพื่อหาแหล่งเงินทุนให้ชาวไร่ด้วย   

โดย ปัจจุบัน ยสท. มีเครือข่ายเกษตรชาวไร่ผู้ปลูกใบยาสูบที่ขึ้นทะเบียนกับ ยสท. จำนวน 13,500 ครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายของ ยสท. ทำให้โรงงานยาสูบรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรลดลงจากเดิม 28 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหลือ 13ล้านกิโลกรัมต่อปี  ส่งผลกระทบต่อรายได้หายไปประมาณ 50% ซึ่งการปรับพื้นที่มาปลูกพืชกัญชาเสริม จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมมีรายได้จากการปลูกใบยาสูบจะอยู่ที่ 23,000 – 24,000 บาทต่อไร่ หากปลูกพืชกัญชาคาดว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำ 70,000 – 80,000 บาทต่อไร่