มติรัฐสภาทำ“ประชามติ”ให้ประชาชนเสนอเรื่องได้

18 มี.ค. 2564 | 11:44 น.

"กมธ.เสียงข้างน้อย"ชนะโหวตในรัฐสภา บัญญัติ 5 เงื่อนไข กำหนดให้ "ทำประชามติ" ประชาชนสามารถเรื่องได้

วันนี้(18 มี.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. เป็นประธาน พิจารณาแล้วเสร็จ

ในการพิจารณาที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงต่อสาระของร่างแก้ไข มาตรา 9 อย่างกว้างขวาง เนื่องจาก กมธ.ได้แก้ไข โดยเติมเนื้อหาให้ การทำประชามติ เป็นไปโดยเสรี และเสมอภาค จากเดิมที่กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมการดูแลการออกเสียง ให้เป็นโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และมีกมธ.เสียงข้างน้อย เสนอความเห็นให้แก้ไข

อาทิ นายชูศักดิ์  ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็นให้เพิ่มเงื่อนไขว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของการจัดให้มีออกเสียงประชามติ  คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, เมื่อกรณีที่ครม.เห็นสมควร, ตามกฎหมายกำหนด, กรณีรัฐสภามีมติว่ามีเหตุอันสมควร, กรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอ ครม. ให้ทำประชามติ ทั้งนี้เพื่อให้มีหลักประกันต่อการทำประชามติเรื่องที่เห็นสมควร

ทั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภา อภิปรายสนับสนุนเพราะเห็นว่า จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การออกเสียงประชามติสามารถทำได้จริง และเป็นไปอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ของประเทศ
 

 นายสุรชัย ชี้แจงว่า การกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดไว้ในกฎหมายอาจทำให้เกิดการตีความเพื่อจำกัดการออกเสียงประชามติได้ 

ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 กำหนดให้ ครม.จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ในกรณีที่มีเหตุอื่นสมควร ซึ่งข้อความที่ว่ากรณีที่มีเหตุอื่นอันสมควร เท่ากับว่าหากมีปัญหาอันมีเหตุสมควร กระบวนการออกเสียงประชามติจึงเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถตีความได้กว้างมากกว่า การกำหนดเงื่อนไข อย่างไรก็ดี ในการรับฟังความเห็นของประชาชน มีกฎหมายระดับต่างๆ รองรับไว้ อาทิ การจัดรับฟังความเห็นเรื่องที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น

หลังจากที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความเห็นในมาตราดังกล่าว กว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ปิดการอภิปราย และ ลงมติตัดสิน โดยเสียงข้างมาก  273 เสียง เห็นด้วยกับเนื้อหาที่นายชูศักดิ์ เสนอ ต่อ 267 เสียง และงดออกเสียง 1
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาที่นายชูศักดิ์ เสนอนั้น มีสาระ คือ  กำหนด 5 เงื่อนไข ต่อการทำประชามติ ได้แก่ 

1.การออกเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 

2.การออกเสียงกรณีเมื่อครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร

3.การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง

4.การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณา และมีมติเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้ชี้แจงเรื่องให้ครม.ดำเนินการ 

และ 5.การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

นอกจากนั้น ได้กำหนดรายละเอียยด้วยว่า ห้ามออกเสียงประชามติเรื่องที่ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้


 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสียงข้างน้อย ชนะเสียงข้างมาก ทำให้มาตรา 9 ของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ต้องแก้ไขเนื้อหา โดยเพิ่มรายละเอียดเป็นเงื่อนไขที่ให้ต้องทำประชามติ เพิ่มเติม 5 หลักเกณฑ์

นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ได้กล่าวให้เลขาธิการประชุม เข้าสู่การพิจารณามาตรา 10  แต่ก่อนการเข้าสู่การพิจารณา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ขอให้พักการประชุม 10 นาที เพื่อพิจารณารายละเอียด เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 9 นั้น มีผลทำให้เนื้อหามาตรา 10 และ มาตรา 11 เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเพื่อให้เกิดความรอบคอบ กมธ.ขอหารือร่วมกัน

ก่อนที่จะพักการประชุม มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ขอใช้สิทธินับคะแนนใหม่ ด้วยการขานคะแนน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 58 เพราะคะแนนมีผลต่างน้อยกว่า 30 คะแนน ทำให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านประท้วงและโต้ตอบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการพิจารณามาตรา 10 แล้ว  ทำให้มีส.ว.โห่ประท้วงไม่พอใจ

แต่ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลาย นายพรเพชร วินิจฉัยว่า “ที่ประชุมเข้าสู่มาตรา 10 ไม่สามารถใช้สิทธินับคะแนนใหม่ได้”

จากนั้นได้พักการประชุม 10 นาที เมื่อเวลา 18.21 น.เพื่อให้กมธ. หารือร่วมกันเพื่อปรับแก้เนื้อหามาตรา 10 และมาตรา 11 ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ได้แก้ไข