บราซิลกุมขมับ พบโควิด-19 กลายพันธุ์ซ้ำซ้อน ซึ่งอาจจะควบคุมยากกว่าเดิม

14 มี.ค. 2564 | 15:16 น.

บราซิลพบความเสี่ยงโควิด-19 กลายพันธุ์ซ้ำซ้อน ซึ่งอาจควบคุมได้ยาก ขณะที่ระบบการดูแลสุขภาพของประเทศจวนเจียนจะล่มสลายเพราะมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่จำนวนมาก

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ (LNCC) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศบราซิล ได้เปิดเผยถึงการตรวจพบ เชื้อไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ ในหลายภูมิภาคของประเทศ ที่อาจควบคุมการแพร่ระบาดได้ยากขึ้น

คณะนักวิทยาศาสตร์ของบราซิลได้พบเชื้อไวรัสโควิดชนิดกลายพันธุ์ใหม่ ขณะระบบการดูแลสุขภาพของประเทศจวนเจียนจะล่มสลายเพราะมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์พี.1 (P.1) เพิ่มขึ้น โดยสายพันธุ์พี.1 อุบัติขึ้นในรัฐอามาโซนัสทางตอนเหนือของบราซิลเมื่อเดือนพ.ย. 2563

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา อ้างอิงแถลงการณ์จากห้องปฏิบัติการฯ ระบุผลการศึกษาใน 39 เทศบาลเมืองของ 5 รัฐท้องถิ่น บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการเกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์บี.1.1.33 (B.1.1.33) ที่ระบาดอยู่ในบราซิลแล้ว

ห้องปฏิบัติการฯ เตือนว่า เชื้อไวรัสโควิดชนิดกลายพันธุ์ ล่าสุดนี้ มีการกลายพันธุ์ที่อาจ "เพิ่มความยุ่งยากในการวางยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อควบคุมการติดเชื้อ"

"เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าต้องมีการตรวจสอบข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถวินิจฉัยความเป็นไปได้ในการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน" ห้องปฏิบัติการฯ ระบุ

บราซิลกุมขมับ พบโควิด-19 กลายพันธุ์ซ้ำซ้อน ซึ่งอาจจะควบคุมยากกว่าเดิม

ทั้งนี้ บราซิลมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 11,363,380 ราย สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีผู้เสียชีวิต 275,105 รายสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิดทะลุ 119,200,000 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 2,644,000 ราย

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนสถานการณ์โควิดในบราซิลยังน่าวิตกมาก โดยนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่น่ากังวลใจเป็นอย่างมากในบราซิลจำเป็นต้องมีการออกมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ที่มีเป็นจำนวนมาก “หากไม่มีการใช้มาตรการที่จริงจัง บราซิลก็จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ระบบสาธารณสุขใกล้ล่มสลาย และจะส่งผลกระทบต่อประเทศใกล้เคียงด้วย” ผอ.องค์การอนามัยโลกกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: