ลั่นคว่ำร่างกฎกระทรวง ประมงเตรียม ชุมนุมใหญ่ เดิมพันอนาคตหมื่นลำ

13 มี.ค. 2564 | 19:00 น.

ประมงลั่น คว่ำร่างกฎกระทรวงใหม่ ประกอบพิจารณาขอต่อใบอนุญาตประมงพาณิชย์ ปี 2565-2566  ชี้เพิ่มภาระ สร้างปัญหา  เอาใจอียูเกินเหตุ ระบุส่งออกปี 63 แค่ 5%  เม็ดเงินแค่กว่า 4,000 ล้าน จับตา 24 มี.ค. เตรียมเคลื่อนไหว วางอนาคตประมงหมื่นลำเป็นเดิมพัน  

แม้ว่าประเทศไทย จะได้รับ “ใบเขียว” การทำประมงจากสหภาพยุโรป(อียู) แล้วก็ตาม แต่การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายใต้พระราชกำหนด การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้นำค่าผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน หรือ MSY มาใช้เป็น “จุดอ้างอิง” ในการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมงในน่านน้ำไทย (TAC) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตอันจะทำให้สถานการณ์การทำการประมงของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะ Overfishing ซึ่งการจำแนกเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นจุดอ้างอิงในการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ต่อเนื่องมาในรอบการประมง ปี พ.ศ. 2561-2562 และ พ.ศ 2563-2564 (กราฟิกประกอบ)

 

ทั้งนี้จำนวนเรือประมงพื้นบ้านจากการสำรวจ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 มีประมาณ 50,000 ลำ ได้รับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำในปีการประมง 2563 จำนวน 259,151 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17 ของ TAC เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 11 ในปีการประมง 2561-2562  จำนวนเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และได้รับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำ ปีการประมง 2563 (ณ วันที่ 1 เมษายน 2563) เท่ากับ 10,392 ลำ ได้รับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำ 1,238,529 ตัน คิดเป็นร้อยละ 80 ของ TAC ลดลงจากเดิมร้อยละ 86 ในปีการประมง 2562 รวมการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำ ปีการประมง 2563 ประมาณ 1,497,680 ตัน มีปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือ 47,092 ตัน  (อ้างอิงข้อมูลคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ) 

 

ลั่นคว่ำร่างกฎกระทรวง ประมงเตรียม ชุมนุมใหญ่ เดิมพันอนาคตหมื่นลำ

ล่าสุดกำลังร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ....สำหรับประกอบการใช้ต่อใบอนุญาตทำการประมง ในปี 2565-2566 ที่คาดว่ากรมประมงจะเปิดให้ขอใบอนุญาตทำประมงในต้นปีหน้า  ในวันที่ 10 มีนาคม 2564 จึงได้จัดประชุมชี้แจงร่างดังกล่าวนี้ 

 

นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงฯข้างต้นว่า ไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ โดยการออกกฎหมายที่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตลอดเวลา  ซึ่งไม่เป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพ แต่กลับเป็นการสร้างความยุ่งยาก เสียเวลาเปลืองเงินเปลืองทอง และเป็นการซ้ำเติมชาวประมงในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

 

ยกตัวอย่าง การกำหนดหลักเกณฑ์การยกสิทธิ์สัตว์น้ำ โดยการเพิ่มเงื่อนไขเป็นเครื่องมือประสิทธิภาพสูงไปต่ำ ทำให้เรือลากคู่ เรืออวนล้อมจับ เรืออวนล้อมจับปลากะตัก และเรืออวนลากคานถ่าง ไม่สามารถได้รับสิทธิ์ เนื่องจากโอนให้กันไม่ได้ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นขอให้ใช้กฎการขออนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 ตามเดิม

นายมงคล กล่าวอีกว่า สมาคมไม่ได้ขู่ ก่อนที่กฎหมายจะออก ต้องส่งมาให้มาพิจารณาอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นคงรับไม่ได้ แล้วหากกฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ แต่หากยืนยันจะบังคับใช้ พวกตนคงไม่ยอมรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว “แค่นี้ยังเจ๊งกันไม่พอหรือ ในการที่นำปัญหาไอยูยู มาแก้โดยอ้างอียู มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ปี 2563 ส่งออกสินค้าไปแค่ 5% หรือกว่า 4,000 ล้านบาท แต่มาทำร้ายชาวประมงไทยทั้งประเทศ 6 ปีที่ผ่านมายังไม่รู้สึกผิดอีกหรือ”

 

ทั้งนี้ชาวประมง 22 จังหวัด จะคัดค้านให้ถึงที่สุด เพราะร่างกฎกระทรวงที่ออกมาใหม่ ลิดรอนสิทธิ ในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะมีการกำหนดท่าที และการเคลื่อนไหว โดยมีอนาคตเรือประมงพาณิชย์  10,392 ลำ เป็นเดิมพัน

 

ที่มา : หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564