“วิษณุ”ชี้ช่องจบปัญหา“งดออกเสียง”ร่างแก้ไขรธน.วาระ 3

12 มี.ค. 2564 | 07:49 น.

"วิษณุ"ชี้ช่องรัฐสภา“งดออกเสียง”จบปัญหาร่างแก้ไขรธน.วาระ 3 หรือโหวตไม่ผ่าน ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ระบุแก้รธน.รายมาตรา ทำได้เร็ว เดือนครึ่งก็เสร็จ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำ "ประชามติ" ถามความเห็นประชาชนก่อน ว่า เรื่องนี้โดยสรุปตามที่ตนเข้าใจ เป็นเรื่องของสภาฯ สภาฯ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ โดยวาระหนึ่ง วาระสองไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่วาระสาม จะลงมติได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ประธานสภาฯ ได้บรรจุวาระนี้เข้าไปในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 17 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น.ไว้แล้ว คงจะว่ากันในสภา ถ้าสภาเห็นว่าไม่ควรจะโหวตก็ไม่โหวตก็เลิกไปเฉยๆ เพราะมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าสภาเห็นว่าไม่เป็นไรโหวตไป สุดท้ายถ้าให้ทำประชามติก่อนเดี๋ยวคิดกัน ก็สามารถทำอย่างนั้นได้ แต่ความเสี่ยงก็จะมี เพราะคำวินิจฉัยออกมาอย่างนี้แล้ว ก็มีอีกฝ่ายที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยในการโหวตวาระสามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซีกของส.ว. และ ส.ส. ก็อาจมีความเป็นไปได้

เมื่อโหวตวาระสาม อาจจะไม่มีคนมาประชุม หรือมาแต่งดออกเสียง เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี หรือลงมติไม่เห็นชอบ หรือคว่ำเสียให้มันตกไปให้จบเรื่องแล้วค่อยไปเริ่มต้นกันใหม่ โดยจะเริ่มที่ลงประชามติก่อนเพื่อแก้ทั้งฉบับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ หรือจะแก้เป็นรายมาตรา ก็เป็นเรื่องที่ไปคิดอ่านกัน ทั้งหมดนี้คือความเห็นของตน

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ววาระสามสามารถโหวตได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า  ไม่ทราบ เพราะตนนยังไม่เห็นคำวินิจฉัย แต่คงไม่มีอะไรผิดพลาดที่จะโหวต แต่ถ้าโหวตแล้วก็อาจจะไม่ผ่าน ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดให้เรื่องมันจบลงดีกว่าคาไว้

เมื่อถามว่าการทำประชามติควรเริ่มในช่วงเวลาใด นายวิษณุ กล่าวว่า ช่วงไหนก็ได้แต่ต้องเข็นให้กฎหมายประชามติผ่านเสียก่อน เมื่อออกมาแล้วก็คิดกันต่อไป ถ้าจะลงประชามติก่อนก็ลงได้

เมื่อถามว่าการทำประชามติจะเร็วสุดได้เมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะต้องเข้าวาระสองก่อนยังไม่รู้คณะกรรมาธิการเขาจะแก้อย่างไร มันมีหลายสำบัดสำนวน กรรมาธิการข้างน้อยเอาอย่าง กรรมาธิการข้างมากเอาอย่าง และรัฐสภาต้องเป็นคนโหวต และสมมติว่าผ่านวาระสามไปแล้วหลังมีการโปรดเกล้าฯ กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ทันที กฎหมายประชามติเป็นแค่เครื่องมือในการออกเสียงประชามติ โดยผู้ทำประชามติคือรัฐบาล ส่วนการตั้งคำถามก็คงต้องคิดด้วยกัน ถือเป็นคำถามของรัฐบาล


เมื่อถามว่าหากรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ไม่สามารถทำได้ใช่หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้อง

เมื่อซักอีกว่าหากมีการโหวตคว่ำ การทำประชามติ หรือ แก้หลายมาตรา อันไหนจะมีแนวทางมากกว่ากัน นายวิษณุ กล่าวว่า กระแสในสภาเขาอยากให้มีการทำรายมาตราอยู่แล้ว ซึ่งไม่ยาก เพราะการทำรายมาตรานั้นเร็ว เดือนครึ่งก็เสร็จแล้ว เพียงแต่คิดให้ตรงกันเสียก่อนว่า คำว่าหลายมาตรานั้นหมายถึงมาตราไหน ตรงนี้นี่แหละจะพูดกันยาว ถ้ามีความเห็นร่วมกันได้ก็จบในทางที่ดีคือรายมาตราที่ไม่ต้องลงประชามติมันง่ายเดือนเดียวก็เสร็จ

ส่วนประเด็นที่ต้องทำประชามตินั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้เขียนอยู่ในมาตรา 256 อยู่แล้ว คือ 1.วิธีแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้แก้วิธีแก้มีอยู่ 2แบบแล้ว คือวิธีแก้ธรรมดากับไปร่างใหม่ ถ้าร่างใหม่ก็ต้องไปทำประชามติก่อน และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมา แต่ถ้าเป็นการแก้ธรรมดา หนึ่ง วิธีแก้รัฐธรรมนูญจะต้องไปออกเสียงประชามติ สอง ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ สาม ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของหมวดพระมหากษัตริย์ สิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่าไม่มีอะไรต้องตีความ


 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลในเรื่องของกรอบเวลาหรือไม่ หากต้องไปร่างใหม่ที่ต้องใช้เวลา 24-26 เดือน อาจจะไม่ทันสภาชุดนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่จำเป็นต้องยาวขนาดนั้น ทุกอย่างใช้คำว่าภายใน ดังนั้น หนึ่งเดือนก็ภายใน สองเดือนก็ภายใน แต่ความหมายคือไม่เกิน 280 วัน แล้วจะไปรอให้จบที่ 280 วันทำไม ในไทม์ไลน์นี้ก็สามารถยืดหยุ่นได้ อยู่ที่ว่าแก้อะไรและเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ ถ้าทำได้เร็วมันก็เร็ว 

ข้อสำคัญ เมื่อเกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นแล้ว สภาจะยุบหรือไม่ หรือจะตั้งใหม่หรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกัน ทุกอย่างเดินหน้าของมันไปเรื่อย เพราะสภาชุดใหม่ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้เลย ส.ส.ร.เป็นอีกหนึ่งสภาที่แยกออกมาต่างหากจากรัฐสภา 

“คำตอบโดยสรุป ง่ายๆ คืออยู่ที่สภา ว่าจะต้องคิดอย่างไร ถ้าสภาคิดว่าอย่างนั้นไม่รู้จะไปโหวตทำไมก็จบ และถ้าเป็นอย่างนี้ในวันที่ 17 มี.ค. ก็ให้คุยกันเสียก่อน แต่ถ้าสภาบอกว่าให้ลงมติ แล้วค่อยไปคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร ก็ลงไป แต่มีโอกาสที่สมาชิกสภาจะงดออกเสียงเป็นไปได้สูง สูงมากด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าถึงแม้ว่าสภาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น อาจจะยุบสภา เรื่องที่ค้างอยู่นี้ยังคงเดินหน้าต่อไปใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ ไม่สะดุด
เมื่อถามว่าอย่างนี้วาระ1 วาระ 2 ที่ทำมานั้น ไม่แท้งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า 1 กับ 2 ไม่แท้ง แต่ 3 นี่ แล้วแต่ว่าจะตัดสินใจให้แท้งหรือเปล่า ซึ่งจะตัดสินใจว่า เลิกไปมันก็ได้ หรือจะดันเข้าสภาต่อก็ได้ แต่ทีนี้จะยุ่งหน่อย เพราะตอนที่เขาแก้กันเมื่อวันที่ 10 มี.ค. แก้กันแม้กระทั่งคำว่า 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเขาคิดจะแก้ในเรื่องอื่นอยู่แล้ว 

“ผมจึงได้บอกว่า ถ้าอย่างนั้นอาจจะเดินหน้าต่อไปก็ได้ แต่มีบางมาตราที่พ่วงเข้าไปและทำให้เกิดปัญหาเช่น มาตรา 5 ถ้าสภาลงมติในวาระ 3 ตกไป คือ ได้คะแนนเสียงไม่ถึง ก็ดูว่าจะจบลงด้วยดี แต่อาจจะไม่ถูกใจบางคน แต่ไม่เป็นปัญหา แต่หากสภาลงมติวาระ 3 ผ่าน ถ้าจะเดินต่อ มันก็จะเดินต่อยากแล้ว และรับรองว่าก็จะมีคนเลี้ยวเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกหน ซึ่งนอกจากมาตรา 5 แล้ว ยังมีมาตราอื่นอีกหลายมาตรา ทุกมาตราที่ผูกกับส.ส.ร. นั้น จะมีปัญหาหมด”

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่ามาตรา 3 นี้ควรจะโหวตตกไปเลยใช่หรือไม่ ถ้าอยากให้จบ นายวิษณุกล่าวว่า "ก็งดออกเสียงไง"