AISชูNB-IoT กักตัวเรือยอชต์

16 มี.ค. 2564 | 19:00 น.

เอไอเอส ผนึก ดีป้า และพันธมิตร เปิดโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ครั้งแรกในไทย ชูเทคโนโลยี NB-IoT บนคลื่น 900 MHz เชื่อมต่อสายรัดข้อมืออัจฉริยะติดตามสุขภาพนักท่องเที่ยว ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร  บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน)  หรือ เอไอเอส  เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง เอไอเอสมองเห็นถึงวิกฤติดังกล่าวจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า, บริษัทพีเอ็มเอชโฮลดิ้ง จำกัด (POMO) กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทยจัดทำ “โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ หรือ Digital Yacht Quarantine ครั้งแรกในไทย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นรูปแบบการกักตัวนักท่องเที่ยวบนเรือยอชต์กลางทะเลก่อนเดินทางขึ้นบก ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย

โดยการใช้เทคโนโลยีเครือข่าย Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT บนคลื่น 900 MHz ที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กม. ซึ่งเทคโนโลยี NB-IoT นั้นใช้ Bandwidth ในการรับส่งข้อมูลและพลังงานน้อย ทำให้มีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนานถึง 4 วัน พร้อมด้วยแพลตฟอร์มคลาวด์ที่เป็นเครือข่ายหลักเชื่อมต่อกับสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) จาก POMO เพื่อมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยวทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายังแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือก่อนเดินทางขึ้นบกเพื่อท่องเที่ยวต่อไป

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 ภูเก็ตสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท การระบาดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวบนเกาะลดลงจาก 40,000-50,000 คนต่อวันเหลือเพียงหลักร้อยคน ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยเรือยอชต์สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 1.8 พันล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ให้บริการโครงข่ายเข้ามาเสริมศักยภาพด้านสาธารณสุข รับนโยบายภูเก็ตโมเดล (GEMMSS) สู่ Smart City ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภูเก็ตให้กลับมาคึกคัก

ด้านนายฉัตรชัย ตั้ง-จิตตรง ประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า สำหรับโครงการ Digital Yacht Quarantine กักตัวนักท่องเที่ยว 14 วันบนเรือ ที่ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ครั้งนี้ เราได้ใช้ดีไวซ์ 2 รุ่นคือ Activ 10+ และ Smartwatch Active 30+ ที่เป็นทั้ง Tracker และ Health Device ให้นักท่องเที่ยวใส่ที่ข้อมือติดตัวตลอดเวลา เพื่อติดตามและเฝ้าระวังป้องกันการออกนอกพื้นที่ โดยระบบจะทำงานอย่างแม่นยำด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะที่สามารถวัดชีพจร ค่าความดัน และวัดอุณภูมิร่างกายของนักท่องเที่ยว

ส่วนนายธนภัทร ทั่วไตรภพ กรรมการบริหาร บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สำหรับโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ “Digital Yacht Quarantine” นั้น โฟล คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมกับบริษัท พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป ผู้ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ดำเนินการตั้งแต่การให้บริการลงทะเบียน NB-IoT Wristband Tourist Tracking เพื่อให้นักท่องเที่ยวสวมใส่สำหรับกักตัวบนเรือยอชต์ 14 วัน พร้อมจัดทีมแพทย์ขึ้นไปตรวจเชื้อโควิดบนเรือ โดยจะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพตลอดเวลาและหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน ก็จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ก่อนอนุญาตให้เดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ต เรียกได้ว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มัล ที่นอกจากจะยกระดับการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และหมู่เกาะทะเลอันดามันให้มีความทันสมัยและอัจฉริยะมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้อุตสาห กรรมท่องเที่ยวพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย  

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564