“มูจิ-ยูนิโคล่” 2 แบรนด์ค้าปลีกดังจากญี่ปุ่น ที่ยังคงผงาดในเมืองไทย

05 มี.ค. 2564 | 11:23 น.

"มูจิ -ยูนิโคล่” 2 แบรนด์ค้าปลีกสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึง “ประเทศไทย” กับการปรับตัวครั้งสำคัญเมื่อต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19

แม้ “ยูนิโคล่” จะถือกำเนิดในญี่ปุ่นก่อน แต่สำหรับในเมืองไทย “มูจิ” เข้ามาปักหมุดให้นักช็อปไทยได้สัมผัสก่อน

“มูจิ” เริ่มเข้ามาเปิดสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ในปี 2549  ต่อมาในปี 2556 ได้ร่วมทุนกับห้างเซ็นทรัล ก่อตั้งบริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ถือหุ้นในสัดส่วน 49 : 51 มูจิเริ่มปูพรมนำสินค้ากว่า 3,000 รายการ เข้าวางจำหน่ายพร้อมขยายสาขาทั้งในห้างเซ็นทรัลและห้างอื่นๆ จนปัจจุบันมีสาขารวม 20 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ความโดดเด่นของ “มูจิ” ไม่ใช่อยู่ที่เป็นเสื้อผ้า แต่ยังรวมถึงสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ภายในบ้าน  เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ ของกิน ฯลฯ ด้วยจุดขาย made in Japan  ผนวกความเรียบง่าย จากสีหลักที่มีเพียงขาว ดำ น้ำตาล เท่า น้ำเงิน และสีเงิน ทำให้มูจิ เติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเติบโตจนมีสาขากว่า 700 สาขาทั่วโลก

MUJI

การจับมือกับห้างเซ็นทรัล ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ทำให้มูจิสามารถลดต้นทุนในการนำเข้าได้ราว 30% จึงเป็นที่มาทำให้ “มูจิ” ตัดสินใจลดราคาสินค้าในหลายๆ หมวดลง เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ที่ปรับลดราคาสินค้า 1,100 รายการ ในประเทศญี่ปุ่น ตามด้วยจีน  และไทย โดยสินค้ายอดฮิต ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า  ชุดชั้นใน  เครื่องหอม ฯลฯ ต่างปรับราคาลง 20-30%

ขณะที่ในประเทศไทย เริ่มต้นปรับลดราคา 119 รายการในปลายปี 2562 ต่อมาเดือนสิงหาคม 2563 ปรับลดลงอีก 604 รายการ (เฮ! MUJI หั่นราคา 604  รายการ) ทั้งในหมวดเสื้อผ้าและเครื่องใช้ในบ้าน เดือนกันยายน 2563 ปรับลดหมวดเฟอร์นิเจอร์อีก 55 รายการ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับลดราคาในหมวดเสื้อผ้าและเครื่องใช้ในบ้าน 217 รายการ  ล่าสุด (5 มีนาคม 2564) ปรับลดราคาเสื้อผ้าลินินลงอีก 18-30% จำนวน 32 รายการ

ชูกลยุทธ์ราคา

“อกิฮิโร่ คาโมการิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ให้เหตุผลในการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาว่า เป้าหมายสำคัญของมูจิ คือ การทำให้สินค้ามูจิ เข้าถึงได้ง่าย โดยมีกลยุทธ์ด้านราคาและการกระจายสินค้าเป็นกลยุทธ์สำคัญ

ขณะเดียวกันมูจิ ก็ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยการปรับราคาจะมีผลทั้งสินค้าที่จำหน่ายผ่านสาขาทั้ง 20 สาขาในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมทั้งช่องทางออนไลน์ของ Central Online เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นด้วย    

“นอกจากกลยุทธ์การตลาดด้านราคา MUJI ยังให้ความสำคัญด้านการกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและทั่วถึงยิ่งขึ้นขึ้น โดยในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไป คือหันไปเลือกซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น MUJI เล็งเห็นความสำคัญของช่องทางขายออนไลน์

จึงได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน Central Online ทั้งในแพลตฟอร์มเว็บไซต์และในแอพพลิเคชัน จากเดิมที่เน้นการจำหน่ายสินค้าเฉพาะที่สาขา รวม 20 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อเพิ่มความสามารถในการกระจายสินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น” นายอกิฮิโร่กล่าว

ตลาดนัดมูจิ

วันนี้ “มูจิ” ยังมีเปิดโอกาสให้ร้านค้าที่มีแนวคิดเดียวกัน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งโดยจัดทำเป็น Pop-up store หมุนเวียนนำสินค้ามาวางจำหน่ายภายใน “ตลาดนัดมูจิ” ซึ่งจะจัดขึ้นหมุนเวียนในสาขาต่างๆ และยังมีบริการต่างๆ อีกมากมายที่มูจิ จัดขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าและบริการของมูจิ ไม่ว่าจะเป็น MUJI Interior Advisor Consultation เป็นต้น

แม้วันนี้จะยังไม่มีตัวเลขยอดขายในปี 2563 แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง

ปี 2560   รายได้ 112,000 ล้านบาท  กำไร 13,650 ล้านบาท

ปี 2561  รายได้ 121,000 ล้านบาท  กำไร 13,610 ล้านบาท

ปี 2562   รายได้ 123,000 ล้านบาท กำไร  10,800 ล้านบาท (มี.ค. 2562-ก.พ. 2563)

เส้นทางธุรกิจของ “มูจิ” ยังต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ซ้ำเติมทำให้ยอดขายเดิมที่ลดลงต้องทรุดลงอีก 

แม้เส้นทางของแต่ละแบรนด์จะแตกต่างกัน โดย “ยูนิโคล่” ถือกำเนิดในปี 2492 จากร้านเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย ภายใต้ชื่อ “Men’s Shop OS” ต่อมาในปี 2527 เปิดเป็นร้านขายเสื้อผ้า  “ยูนีคโคลธิงแวร์เฮาส์”  คอนเซปท์ made for all หรือเสื้อผ้าลำลอง คุณภาพดี ใส่สบาย ราคาถูก หลากหลายสี ไม่ตกเทรนด์แฟชั่น ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ยูนิโคล่” (uniqlo) ในเวลาต่อมา 

ยูนิโคล่ ประเทศไทย เริ่มก่อตั้งในเดือนกันยายน 2554 โดยเปิดสาขาแรกขึ้นที่ “เซ็นทรัลเวิลด์” และเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ในสมัยนั้น) ปลุกให้ตลาดฟาสต์ แฟชั่นเมืองไทยคึกคักขึ้นทันตา แม้ “ยูนิโคล่” จะตอกย้ำเสมอว่า ไม่ใช่ Fash Fashion แต่เป็น LifeWear ที่เหมาะกับชีวิตประจำวัน

ด้วยดีไซน์เรียบง่าย ไม่หวือหวา สวมใส่ได้ทุกวัน ราคาสบายกระเป๋า สามารถมิกซ์แอนด์แมทซ์ และมี Innovation ที่เหมาะกับเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น AIRism เสื้อผ้าระบายความร้อน , Ultra Light Down และ DRY-EX หรือจะเป็นเสื้อผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของยูนิโคล่ อย่าง Heattech  

ยูนิโคล่

การแข่งขันที่รุนแรงในห้าง ทำให้ “ยูนิโคล่” เลือกที่จะฉีกตัวเอง และเข้าหาลูกค้าให้มากขึ้น จึงตัดสินใจเปิดโมเดลใหม่ที่เรียกว่า “Roadsidt Store” ซึ่งโมเดลนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น  เกาหลี และไต้หวัน ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดให้บริการโมเดลนี้

โดยยูนิโคล่ โรดไซด์ สโตร์ ในรูปแบบสแตนด์อะโลนสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนพัฒนาการ 58 ซึ่งรวบรวมสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า สำหรับเด็ก  ผู้หญิงและผู้ชาย รวมไว้ด้วยกัน โมเดลโรดไซด์ สโตร์ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เห็นได้จากปัจจุบันที่มีการขยายสาขาไปยังมีนบุรี  และล่าสุดเปิดให้บริการที่ย่านนวมินทร์ ในเดือนสิงหาคม 2563

ในปี 2563 ที่ทั่วโลกเผชิญกับ “โควิด-19”   ยูนิโคล่เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เห็นได้จากการที่ “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง โค” เจ้าของแบรนด์ “ยูนิโคล่” ประเทศญี่ปุ่น เผยผลประกอบการที่มียอดขายเหลือเพียง 2 ล้านล้านเยนหรือราว 5.91 แสนล้านบาท ลดลง 12% ขณะที่กำไรสุทธิร่วงลง 44% เหลือ 9 หมื่นล้านเยน หรือราว 2.66 หมื่นล้านบาท

ด้วยเหตุผลว่าต้องปิดร้านสาขาในต่างประเทศเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายยูนิโคล่ในหลายประเทศลดลง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรป

ปรับแผนรุกออนไลน์

การเผชิญกับ “โควิด-19” ทำให้ยูนิโคล่ ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการนำเสนอแนวทางใหม่ ทั้งการปรับรูปแบบออนไลน์แพลตฟอร์มให้ใช้งานง่ายขึ้น  การชำระเงินแบบไร้เงินสด รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดีไซน์เสื้อผ้า

รวมถึงการนำกลยุทธ์ O2O หรือ ออมนิแชแนล การผสมผสานการจำหน่ายผ่านหน้าร้านและอีคอมเมิร์ซ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาด  ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการในช่องทางใดก็ได้ หรือจะผสมผสานเลือกดูสินค้า สั่งสินค้าผ่านหน้าเว็บไซต์ และมารับสินค้าที่สาขา หรือจะชำระเงินที่สาขาก็ได้ ตามที่สะดวก

นอกจากนี้ “ยูนิโคล่” ยังก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชน นำสินค้าเข้ามาวางจำหน่าย  การลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง  การลดใช้พลังงาน ฯลฯ วันนี้ยูนิโคล่ ที่มีมากกว่า 53 สาขาจึงยังเป็นขวัญใจของคนไทยอย่างเหนียวแน่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :