ธปท.จ่อปรับคาดการณ์จีดีพีลงมี.ค.

26 ก.พ. 2564 | 00:50 น.

ธปท.จ่อปรับคาดการณ์จีดีพีปี64ลงเดือนมี.ค.หลังโควิดระลอกใหม่ฉุดเศรษฐกิจเดือนม.ค.เผยตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระบางพื้นที่รายได้ลด50-90%หวังมาตรการรัฐทยอยออกมาพยุงกำลังซื้อครัวเรือน

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เดือนมีนาคมนี้(24มี.ค.)โดยจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจเพื่อนำมาพิจารณาทั้งหมดและคาดว่าไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจยังชะลอตัวลดลงโดยต้องติดตามพัฒนาการเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ธปท.จ่อปรับคาดการณ์จีดีพีลงมี.ค.

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธปท. ได้ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือโต 3.2%จากเดิมคาดไว้ที่ 3.6% สาเหตุหลักมาจากที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเริ่มทะยอยเข้ามาในปลายปี 2564 สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้หลายตัวเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก โดยเห็นได้จากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาชะลอลงเหลือ 1.6% จากเดือนธันวาคมอยู่ที่ 6.1% ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นธุรกิจที่ลดลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวทุกหมวดการใช้จ่าย โดยหดตัว -4.9% จากเดือนธันวาคมอยู่ที่ 2.9% เป็นผลมาจากระบาดระลอกใหม่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภาพรวมปรับลดลง 
    

 

ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวอยู่ที่ -2.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทรงตัวเมื่อเทียบเดือนธันวาคม โดยหดตัวตามหมวดอาหารเครื่องดื่ม เนื่องจากการขาดน้ำตาล ปิโตรเลียม และยานยนต์ ที่กลับมาหดตัวจากยอดขายรถยนต์ที่ปรับลดลง  ส่วนเครื่องชี้ภาคบริการหดตัวสูงขึ้นตามธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารรวมถึงธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร

นอกจากนี้ตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้นอยู่ที่ 3.4% และจากการธปท.สัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพอิสระกลุ่มต่างๆ  โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระพบว่าผู้ประกอบอาชีพหาบเร่และแผงลอยรายได้ลดลงมากกว่า 50%ผู้ประกอบการเดินรถติดสระเช่นแท็กซี่จักรยานยนต์รับจ้างรายได้ลดลง 60-90% สปาและร้านนวดได้รับผลกระทบรุนแรงโดยรายได้ลดลงมากกว่า 50% และบางพื้นที่อาจลดลงถึง 90%
    
สำหรับภาคการส่งออกเห็นการฟื้นตัวเนื่องโดยขยายตัวอยู่ที่ 5.5% (ไม่รวมทองคำ) เป็นผลมาจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาเติบโต และการส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลีย และแนวโน้มการส่งออกยังคงจะฟื้นตัวได้ต่อไป เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว และบรรยากาศการค้าโลกยังดีอยู่ 

ธปท.จ่อปรับคาดการณ์จีดีพีลงมี.ค.

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัว -6.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวสูง -11.1% ตามการนำเข้าที่หดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าสำคัญจากผลของฐานสูงในปีก่อน

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน

อย่างไรก็ตามภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวได้ต่อเนื่อง เห็นได้จากรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการอยู่ที่ 2.2%  รายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 0.3% ตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง และการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัว13.6%

“มองไประยะข้างหน้าต้องติดตามมาตรการเยียวยาและเละกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะทยอยออกมาเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วนรวมทั้งผ่านโครงการคนละครึ่ง หรือเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ เราชนะ  ม.33 เรารักกันที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือน และช่วยพยุงเศรษฐกิจในระดับไหน”