เจรจาไม่ลงตัว "รถไฟฟ้าต่อขยายสายสีเหลือง" บอร์ดรฟม.สั่งศึกษาชดเชยรายได้ BEM

25 ก.พ. 2564 | 08:49 น.

บอร์ดรฟม.สั่งศึกษาเจรจาชดเชยรายได้ BEM หลัง EBM ส่งหนังสือยื่นคำขาดยันไม่ชดเชยรายได้ คาดรายได้หดสิ้นสุดสัมปทาน 6 แสนบาทต่อวัน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ว่า สำหรับความคืบหน้าผลการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา - ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทานให้ที่ประชุมรับทราบ เนื่องจากทาง EBM ได้ทำหนังสือถึง รฟม. โดยยืนยันชัดเจนว่า ไม่สามารถรับภาระค่าชดเชยรายได้จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ตามที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำหนังสือถึง รฟม. ขอให้เจรจากับ EBM

"ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้รฟม.ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องชดเชยเพิ่มเติมให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในครั้งถัดไป. เราต้องประมาณการในส่วนที่ต้องรับภาระค่าชดเชยตามที่ BEM เรียกร้อง เพื่อประกอบการพิจารณา ส่วนจะมีการเจรจาเพิ่มเติมกับ EBM หรือไม่ขึ้นอยู่กับมติบอร์ดรฟม.เป็นผู้พิจารณา"

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รฟม.เคยศึกษาเบื้องต้นแล้วพบว่าเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายในปีแรก จะส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยผู้โดยสารจะลดลงประมาณ 9,000 คนต่อวัน ขณะที่รายได้หายไปประมาณ 180,000 บาทต่อวัน และผู้โดยสารรวมถึงรายได้จะลดลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปีสุดท้ายของสัมปทาน ผู้โดยสารจะหายไปประมาณ 30,000 คน รายได้หายไปประมาณ 600,000 บาทต่อวัน ทั้งนี้ตามสัญญาระบุว่าจะต้องเจรจาให้ได้ข้อยุติก่อนเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ภายในเดือน ก.ค.2565