‘โชนัน’ปรับแผนสู้โควิด แจ้งเกิด Soshi-เจาะออนไลน์

20 ก.พ. 2564 | 07:34 น.

“โชนัน” ฮึดสู้ ปรับแผนรับมือโควิด ระลอกใหม่ แจ้งเกิด “Soshi” ซูชิ คำละ 10 บาท เจาะคอมมูนิตี้มอลล์ หวังเพิ่มช่องทางสร้างรายได้พยุงธุรกิจ

การเข้ามาของไวรัสโควิด -19 ในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหาร ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากมาตรการล็อกดาวน์ ที่สร้างข้อจำกัดให้ธุรกิจร้านอาหารตกอยู่ในภาวะ ยากลำบาก ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่ารวม 4.10-4.15 แสนล้านบาทหรือขยายตัว 1.4- 2.6% จากฐานที่หดตัว 6% ในปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 โดยมูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปี  2562 ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเร่งปรับแผนรับมือ เพื่อพยุงธุรกิจให้เดินหน้าได้ต่อไป

นายกุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โชนัน จำกัด ผู้บริหารร้าน "โชนัน" (ChouNan) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โควิด ระลอกใหม่ เริ่มระบาดตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารค่อนข้างรับมือได้ดีเพราะมีการปรับตัวทั้งการลดกำลังคน ลดต้นทุน ตั้งแต่โควิดรอบแรก ความลำบากของโควิดระลอก2 สำหรับร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าคือ ค่าเช่า ซึ่งครั้งนี้ห้างสรรพสินค้าไม่มีมาตราการช่วยเหลือ ละเว้นหรือลดค่าเช่าให้ผู้เช่าเหมือนโควิด ระลอกแรก โดยปกติค่าเช่าคิดประมาณ 10-20% ของยอดขาย ซึ่งเป็นต้นทุนที่หนักมากสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า

กุลวัชร ภูริชยวโรดม

สำหรับ โชนัน มีการปรับแผนธุรกิจเชิงรุกเพื่ออยู่รอดท่ามกลางสภาวะที่ไม่ปกติ อันมีผลมาจากวิกฤติโควิด 19 ใน 2 มิติ คือ 1. รุกเข้าสู่ตลาดออนไลน์ในทุกแพลต ฟอร์ม รวมทั้งบริการเดลิเวอรี และแชนแนลอี-คอมเมิร์ช ทั้งชอปปี้ ลาซาด้า ทีมอลล์ เพื่อดึงกะแสเงินสดให้เข้ามา โดยดึงลูกค้าให้เข้ามาซื้อวอยซ์เชอร์มากที่สุด 2. เพิ่มไลน์สินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ปัจุบันบริษัทได้เพิ่มไลน์สินค้า ซูชิ take away เพิ่มไลน์อาหารชุดสำหรับจัดเลี้ยง หรือปาร์ตี้เล็กๆ และขยายตลาดนอกห้างสรรพสินค้า โดยแตกแบรนด์ใหม่เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้านอกห้าง

 

โดยจะเปิดตัวแบรนด์ “โซชิ” (Soshi) ซูชิคำละ 10 บาท จำหน่ายหลากหลายช่องทางเช่นศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ โรงเรียน หรือโซนออฟฟิศ และคอนวีเนียนสโตร์บางที่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้นซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ยังมีแผนขายแฟรนไชส์ในส่วนของแบรนด์โซชิอีกด้วย

โชนัน

ขณะเดียวกันมีแผนเพิ่มแบรนด์อาหารไทยออนไลน์ เจาะตลาดเดลิเวอรี่ ที่มีดีมานด์ และการเติบโตสูง โดยใช้พนักงานและครัวของโชนันทั้ง 10 สาขา ในการปรุงอาหาร ซึ่งข้อดีคือ ไม่มีต้นทุนเพิ่ม ช่วยให้พนักงานมีงานทำ และกระจายอาหารในพื้นที่ต่างๆได้ครอบคลุมมากขึ้น ผ่านบริการของ GrabFood, Line Man ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ช่องทางการขายเพิ่มมากขึ้นด้วย

“ปีนี้ธุรกิจร้านอาหารจะหนักกว่าเดิม ปีก่อนที่เจอโควิดแค่ช่วงสั้นๆ แต่ปีนี้อาจลากยาวไปจนถึงปีหน้า วัคซีนเองก็ยังต้องรอลุ้นว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ในขณะที่ธุรกิจรีเทลยังพึ่งพาแค่การบริโภคภายในประเทศเท่านั้น มองว่าธุรกิจฟู้ด รีเทลอาจติดลบ เพราะคนยังไม่กล้าเดินทาง ส่วนคนไทยหันไปใช้บริการร้านอาหารขนาดเล็กที่รองรับโครงการ คนละครึ่งของรัฐบาล ทำให้ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กเติบโตได้ดี เพราะคนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

เพราะฉะนั้นเราต้องเจาะกลุ่มลูกค้านอกห้างให้ได้ เราทำทุกออฟชั่น อย่างน้อยคือดึงกะแสเงินสดให้เข้ามามากที่สุดในสถานการณ์แบบนี้ เพราะเรามอง ว่าโควิดเอง น่าจะอยู่ยาวอย่างน้อยๆ ก็ในปีนี้หรือยาวไปถึงปีหน้า ทำให้ทราฟฟิกของคนที่จะมาเดินศูนย์การค้าก็คงยังน้อยอยู่ ดังนั้นธุรกิจร้านอาหารปีนี้น่าจะเหนื่อยยาว” 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564