บีทีเอส ห่วงกทม.  ผิดนัดจ่ายหนี้ ‘สายสีเขียว’

14 ก.พ. 2564 | 01:00 น.

บีทีเอส รอ กทม.ตอบกลับเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 หมื่นล้าน หลังยื่นโนติส 60 วัน คาดกทม.มีช่องทางหารายได้ เหตุชะลอเก็บค่าโดยสาร 104 บาท หวั่นหนี้บานปลาย มี.ค.นี้แตะ 3 หมื่นล้าน

กรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ที่จะเริ่มภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์และกดราคาลงเหลือ 65บาทตลอดสายนั้น 

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บีทีเอสคาดว่ากรุงเทพมหานครอาจมีช่องทางหารายได้ของโครงการดังกล่าวอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาได้เปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีโดยไม่เก็บอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสร้างแล้วเสร็จพอดีเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

เบื้องต้นกรุงเทพมหานครต้องการเก็บอัตราค่าโดยสาร ไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติ จากเดิมต้องจัดเก็บค่าโดยสารที่ 158 บาท ทั้งนี้เกรงว่าประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ไหวจึงลดลงอัตราค่าโดยสารลงมาที่ 104 บาท แต่ปัจจุบันประชาชนยังรับไม่ได้ที่ต้องชำระค่าโดยสารตามที่กรุงเทพมหานครออกประกาศไว้ ทำให้ต้องชะลอการการเก็บอัตราค่าโดยสารออกไปก่อน

“เรายังกังวลว่ากทม.จะมีเงินจ่ายเราไหม เนื่องจากที่ผ่านมาบีทีเอสได้ยื่นหนังสือทวงหนี้แก่กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคมแล้วเพื่อตอบกลับมาที่เราภายใน 60 วัน ส่วนเขาจะนำเงินมาชำระหนี้กับเราจากที่ไหนขึ้นอยู่กับเขาเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนจะมีการหารือกับกทม.กรณีที่ค้างชำระหนี้กับบีทีเอสหรือไม่ เรามองว่าปัจจุบันยังไม่ถึงเวลา ซึ่งจะต้องดูก่อนว่ากทม.จะตอบกลับมาอย่างไรหากครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในหนังสือ”

รายงานข่าวจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ระบุว่า บริษัทได้ทวงถามบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ  ซึ่งมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 8,899,338,642.45 บาท 

ซึ่งบริษัทกรุงเทพธนาคมได้มีหนังสือยอมรับสภาพหนี้ ตามที่บริษัทเรียกร้อง แต่กลับไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้บริษัทฯ มีความมั่นใจได้เลยว่า บริษัทฯจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตจากกรุงเทพธนาคมหรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของกรุงเทพธนาคม ทั้งจำนวนหรือทยอยชำระภายใต้กำหนดเวลาใดและด้วยเงื่อนไขเช่นใด

ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของ บริษัทฯ ที่จะต้องทำการบริหารจัดการหนี้ที่ กรุงเทพธนาคมและ กทม. ค้างชำระแก่บริษัทฯ และมีแนวทางที่ชัดเจนหากมีการที่จะต้องให้มีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทฯ จึงขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ชำระหนี้ทั้งหมด คือหนี้ค่าจ้างค้างชำระถึงวันที่ออกจดหมายฉบับนี้ ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คิดเป็นเงินประมาณ 9,602,927,987.84 บาท และหนี้ค่าซื้อระบบการดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นเงินประมาณ 20,768,979,836.13 บาท ภายใน 60 วัน  นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้น บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมายและตามสัญญาของบริษัทฯ เอากับ กรุงเทพธนาคม และ กทม.ต่อไป

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า สิ่งที่ กทม. พยายามผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพดานสูงสุด 65 บาท เดินทางระยะไกล/ตลอดสาย ราคาสูงสุดเพียง 65 บาท เดินทางระยะสั้น คิดตามจำนวนสถานี กทม. และรัฐบาล พยายามผลักดันให้มีการปรับค่าโดยสารตลอดสาย ที่เพดานสูงสุด 65 บาทมาโดยตลอด ทั้งนี้ กทม. คาดหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีราคาต่ำที่สุดให้ได้ โดย กทม.ได้หารือกับรัฐบาล เพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกันปัญหาหนี้สินจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 120,000 ล้านบาท เป็นหนี้จากงานโยธาก่อสร้าง ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ค่าซ่อมบำรุง และอื่นๆ และการปรับราคาค่าโดยสารตั้งแต่สถานีคูคต-สถานีเคหะสมุทรปราการให้มีเพดานสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยาย

โดยจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งระหว่างการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันนี้กับทางรัฐบาล กทม.ได้ออกประกาศชะลอการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายในวันที่ 16 ก.พ. 64 ออกไปก่อน

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง “การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 มอบหมายให้ กทม. บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

โดยได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเดินรถเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 และ กทม. ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 จัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไปนั้น

กทม. ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารตามประกาศ โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และภาระของ กทม.ให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการกับสภากทม.เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ ศ. 2552

จึงให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศ กทม. เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 ออกไป

รายงานข่าวแจ้งว่า หาก กทม.มีประกาศเลื่อนจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวครั้งนี้ออกไปจะทำให้ กทม.แบกรับภาระ 600 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้จากเดิมสิ้นเดือนมีนาคม 2564 จะค้างหนี้รวม 3 หมื่นล้านบาท 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,653 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564