ผ่าอาณาจักร “เบียร์” แสนล้าน “ไทยเบฟ” เจ้าสัวเจริญ

05 ก.พ. 2564 | 05:36 น.

ผ่าอาณาจักร “เบียร์” แสนล้าน “ไทยเบฟ”  เจ้าสัวเจริญต่อยอดเข้า IPO ตลาดหุ้นสิงคโปร์

 

การประกาศนำหุ้น 20% ของบริษัท BeerCo ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ดูแลด้านการผลิตและจัดจำหน่ายธุรกิจเบียร์ทั้งหมดของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และ "ไทยเบฟ" ถือหุ้นทางอ้อม เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เสนอขายต่อนักลงทุน ทำให้ “ไทยเบฟ” ถูกจับตามองอีกครั้ง หลังจากที่สัปดาห์ก่อน ส่งหนังสือแจ้งว่า เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาเท่านั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือมีการตัดสินใจ ว่าจะเข้าตลาดฯหรือไม่

 

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า การแยก BeerCo เข้า IPO ครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 แสนล้านบาท  มีแนวโน้มว่าจะเป็นการเสนอขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ในรอบทศวรรษ นับตั้งแต่ Hutchison Port Holdings เจ้าของธุรกิจท่าเรือที่เคยระดมทุนในปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าราว 1.7 แสนล้านบาท

เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

สำหรับบริษัท BeerCo ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ดูแลด้านการผลิตและจัดจำหน่ายธุรกิจเบียร์ทั้งหมดของ “ไทยเบฟ” ได้แก่ เบียร์ช้าง, อาชา , เฟเดอร์บรอยในประเทศไทย  รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไซ่ง่อน และ 333 ในเวียดนามของบริษัท Saigon  Beer-Alcohol-Beverage Corporation หรือ Sabeco

 

ขณะที่อาณาจักร บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ หรือ “ไทยเบฟ” ในปี 2563 มีรายได้กว่า 2.53 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 2.87 หมื่นล้านบาท   โดยรายได้จากธุรกิจเบียร์มีสัดส่วนราว 42.2% หรือราว 1.01 แสนล้านบาท

 

เปิดอาณาจักร “เบียร์” ไทยเบฟ

 

เบียร์ช้าง (Chang)  “ฮีโร่โปรดักส์” ของไทยเบฟ ถือกำเนิดเมื่อปี 2538 จากโรงงานผลิตเบียร์ที่อำเภอบางบาล จ. อยุธยา  ด้วยยอดขายที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากกลยุทธ์การทำตลาดที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่สร้างความฮือฮาในสมัยนั้นคือ “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” ทำให้ “เบียร์ช้าง” เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว จากการปูพรมเข้าทุกร้านค้า ตีโอบภูธร ก่อนผงาดยึดหัวเมือง

 

ทำให้ต้องขยายกำลังการผลิตอย่างเร่งด่วน “เจ้าสัวเจริญ” จึงตัดสินใจทุ่มเงิน 9,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 1,600 ไร่ ก่อสร้างโรงงานเบียร์แห่งใหม่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ในปี 2542 ก่อนที่จะเริ่มทำการผลิตได้ในปี 2544  

 

เบียร์อาชา  (Archa) เปิดตัวครั้งแรกในปี 2547 โดยมีเป้าหมายเพื่อจับกลุ่มนักดื่มรุ่นใหม่ เน้นดีกรีต่ำ ถือเป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ให้กับเบียร์ช้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ไทยเบฟ

ไทยเบฟ  เริ่มขยายไลน์สินค้าไปยังตลาดเบียร์พรีเมี่ยม ซึ่งในช่วงเวลานั้นเบียร์พรีเมียมมีเพียง ไฮเนเก้น ส่วนที่เหลือจะเป็นเบียร์นำเข้าซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง จึงตัดสินใจ “เบียร์เฟเดอร์บรอย” ภายใต้คอนเซปท์ เบียร์ขวดเขียวสไตล์เยอรมัน ในปี 2551   แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ด้วยเพราะคนไทยมีแบรนด์ รอยัลตี้ที่สูงมากกับ “ไฮเนเก้น” ทำให้ชื่อของ “เฟเดอร์บรอย” จางลง ก่อนที่จะถูกนำกลับมารีแบรนด์ใหม่ในปี 2560 ด้วยจุดขายเบียร์พรีเมี่ยมเกรด สไตล์เยอรมัน พร้อมมุ่งเจาะเข้าร้านอาหารหรูเป็นหลัก

 

ไทยเบฟ ขยายอาณาจักรเบียร์ต่อเนื่อง การขยับตัวครั้งสำคัญ เพื่อตอกย้ำนโยบายการก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดอาเซียน คือ การเข้าซื้อกิจการ Saigon  Beer-Alcohol-Beverage Corporation หรือ Sabeco หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ในปี 2560 ด้วยมูลค่าราว 1.56 แสนล้านบาท ดีลครั้งนี้ทำให้ “เจ้าสัวเจริญ” ผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดเบียร์เวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งตลาด 43% ของตลาดเบียร์เวียดนาม  2.32 แสนล้านบาท

 

ในปี 2561 ถือเป็นปีที่ “ไทยเบฟ” ขยับตัวแรงอีกครั้ง กับการประกาศรุกตลาดต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งการเปิดตัวเบียร์ใหม่ “แทปเปอร์” (Tapper) ออริจินัล เอ็กซ์ตร้า ที่ถอดสูตรมาจากเบียร์ช้างดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็ปรับสูตร “เบียร์ช้าง” ใหม่ ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลง พร้อมปรับแพ็คเกจให้เรียบหรู ดูดี  ถือเป็นการจัดพอร์ตครบทั้งกลุ่มเบียร์พรีเมียม เมนสตรีม และอีโคโนมี่ รวมทั้งยังเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ 'ฮันทส์แมน' (HUNTSMAN) และ "แบล็ค ดราก้อน" (Black Dragon) เพื่อรุกตลาดคราฟต์เบียร์ ถือเป็นการสร้างสีสัน และขยายฐานนักดื่มใหม่ๆ ให้กับตลาดเบียร์เมืองไทยด้วย

 

ในปี 2562 บริษัท Fraser and Neave (F&N) บริษัทในกลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ ได้ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเบียร์ในเมียนมา ภายใต้ชื่อ บริษัท Emerald Brewery ด้วยงบลงทุน 70 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในย่านแหล่กู กรุงย่านกุ้ง มีกำลังการผลิตเบียร์ช้าง 50 ล้านลิตร จำหน่ายใน 5 รูปแบบ  คือ แบบขวดปริมาณ 320 มล. และ 620 มล. ,แบบกระป๋อง 330 มล. และ 500 มล. รวมทั้งแบบถังปริมาณ 30 ลิตร

 

การเดินเกมส์รุกต่อเนื่องภายใต้การนำทัพของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ทำให้ “ไทยเบฟ” พิชิตพันธกิจ ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียนได้ถึง 26%

ไทยเบฟ

ซึ่งครั้งนั้น “ฐาปน” บอกว่า ไทยเบฟไม่ได้มองตลาดที่ปัจจุบัน และไม่ได้มองแค่อาเซียน เพราะภายในปี 2025 นอกจากประชากรกว่า 700 ล้านคน ยังมีนักท่องเที่ยวอีกกว่า 120 ล้านคน เป้าหมายของไทยเบฟ จึงต้องมองไปที่ อาเซียน + 6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) มีประชากรรวมกว่าครึ่งโลก

 

การพิชิตเป้าหมาย PASSION 2025 คือการขับเคลื่อนองค์กรทะยานสู่เอเชีย และเติบโตอย่างยั่งยืนแข็งแรงบนเวทีโลก แน่นอนว่า การนำทัพ BeerCo เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ไฟเขียวแผน IPO ไทยเบฟ

ไทยเบฟ  แจงยังไม่ตัดสินใจ แยกธุรกิจเบียร์ เข้า IPO ตลาดหุ้นสิงคโปร์

ไทยเบฟ จ่อแยก “ธุรกิจเบียร์” เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ มูลค่า 3 แสนล้าน

ถอดรหัส ‘ไทยเบฟ’ ยืนหนึ่งผู้นำตลาดเครื่องดื่ม-อาหาร