คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล้าน ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (10)

31 ม.ค. 2564 | 04:00 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล้าน ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (10) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. 2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

     มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท
 

     ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียวรนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ
 

     หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เสียงส่วนใหญ่ บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาด กันเป็นตอนที่ 10 ซึ่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กำหนดไว้ในหัวข้อที่ 2. เงื่อนไขการรวมธุรกิจเชิงพฤติกรรม จำนวน 6 ข้อ ได้แก่
 

     2.1 ให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และ เทสโก้ สโตร์ส รวมกันทุกรูปแบบ ในอัตราเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี


     กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นสอดคล้องกับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ ว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายสินค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ ท้องถิ่น (OTOP) เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อย
 

     นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ให้แก่ผู้ผลิตสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุน SMEs ของรัฐตามแผนการส่งเสริม SMEsฉบับที่ 4  (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่มุ่งให้เกิดการขยายบทบาททางเศรษฐกิจของ SMEsตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่มีการกำหนด กลยุทธ์ให้ส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและการเข้าสู่สากล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ SMEs เกิดการพัฒนา คุณภาพสินค้าให้มีความสามารถในการแข่งขัน ตามยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างขีดความสามารถ SMEs เฉพาะกลุ่ม มีกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจของ SMEs โดยการพัฒนา ความเข้มแข็งของคลัสเตอร์และกลุ่มสหกรณ์ เชื่อมโยงให้ SMEs เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดใหญ่  รวมทั้งส่งเสริมองค์การเอกชนให้เข้มแข็ง
 

     นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยังมีกลยุทธ์ที่กำหนดให้ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ สิทธิประโยชน์เพื่อเอื้อและลดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs โดยการทบทวนปรับปรุง กฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนา SMEs และกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับ SMEs ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุน SMEs ของรัฐตามแผนการส่งเสริม SMEs ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560 – 2564) และส่งเสริมให้ SMEs พัฒนาคุณภาพให้สามารถเข้าสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ ทั้งนี้เห็นว่า หลักเกณฑ์ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ข้างต้น ควรกำหนดเกณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎกระทรวง  กำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562
 

     กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นว่า ระยะเวลา 3 ปี ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ เสนอ ไม่เพียงพอ ควรกำหนดระยะเวลาเป็น 5 ปี  เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
 

     ดังนั้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากจึงเห็นควรให้กำหนดเงื่อนไข ให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ เทสโก้สโตร์ส  รวมกันทุกรูปแบบ ในอัตราเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
 

     2.2 ห้ามธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของผู้รวมธุรกิจและหน่วยธุรกิจเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกัน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้า ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ
 

     กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นสอคคล้องกับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอฯ ว่า ผู้ขออนุญาตพึงดำเนินการให้มีระบบการจำกัด การใช้ข้อมูลภายใน (information barriers) ระหว่างกิจการของผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหน้าที่การเก็บรักษาความลับภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกับคู่ค้าทางธุรกิจ และข้อกำหนด ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาความลับของเงื่อนไขทางการค้าโดยให้กำหนดเงื่อนไขห้ามธุรกิจ ค้าปลีกค้าส่งของผู้รวมธุรกิจและหน่วยธุรกิจเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้า ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ
 

     2.3 ให้คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญา ข้อตกลงระหว่างคู่ค้า ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ  ที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้เดิมกับผู้ถูกรวมธุรกิจ คือ เทสโก้ สโตร์ส ทุกรูปแบบ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี
 

     กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นว่า การรวมธุรกิจ ครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ถูกรวมธุรกิจ ได้แก่ เทสโก้ สโตร์ส ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ทุกรูปแบบ เปลี่ยนความเป็นเจ้าของ ภายหลังการรวมธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อข้อตกลง หรือเงื่อนไขเดิม ในสัญญาของผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) 
 

     กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นว่า ระยะเวลา 1 ปี ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ เสนอ ไม่เพียงพอ ควรกำหนดระยะเวลาเป็น 2 ปี  เนื่องจากต้องการให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้า (Supplier) มีระยะเวลาปรับตัวในการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดเงื่อนไขให้คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญา ข้อตกลงระหว่างคู่ค้า ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ ที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้เดิมกับผู้ถูกรวมธุรกิจ คือ เทสโก้ สโตร์ส ทุกรูปแบบ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี


     2.4 ให้ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ สโตร์ส ทุกรูปแบบ สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น  (OTOP) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยดำเนินการ ดังนี้
 

     - การกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อ (Credit Term) ระยะสั้นในระยะเวลา 30-45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงินโดยจำแนกเป็นกลุ่มสินค้าเกษตร ชุมชน วิสาหกิจชุมชน OTOP ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน และกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน ทั้งนี้ กรณีถ้าระยะเวลา การให้สินเชื่อเดิมน้อยกว่าที่กำหนดให้ใช้ข้อกำหนดเดิม 
 

     - การยกเว้นค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Fee) หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการวางจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
 

     กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นสอดคล้องกับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ เสนอว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ขออนุญาต รวมธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีอำนาจต่อรองที่มากขึ้นต่อคู่ค้า หรือผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อช่องทางการจำหน่ายของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเงินทุนแรกเริ่มในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเงินสดสำหรับใช้หมุนเวียนในกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่พึงจะส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวได้มีโอกาสในการเติบโตร่วมกัน กับผู้ขออนุญาตด้วย
 

     ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ โดยเฉพาะอำนาจต่อรอง ของผู้ขออนุญาตที่เพิ่มขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้มีโอกาส เติบโตและสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ ตลอดจนความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3  ของแผนการส่งเสริม SMEs ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ที่กำหนดกลยุทธ์ให้ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์เพื่อเอื้อและลดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs แต่เห็นว่า ยังไม่จำเป็น ต้องกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Fee) หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการวางจำหน่าย สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เนื่องจากขอบเขตตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ไม่ได้พิจารณารวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ
 

     ดังนั้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก จึงเห็นสอดคล้องกับที่ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ เสนอ ควรให้กำหนดเงื่อนไขให้ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น  และเทสโก้ สโตร์ส ทุกรูปแบบ สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ สินค้าเกษตร  สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขึ้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อ (Credit Term) ระยะสั้น ในระยะเวลา 30 - 45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงินโดยจำแนกเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรชุมชน  วิสาหกิจชุมชน OTOP ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน และกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน  ทั้งนี้ กรณีถ้าระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิมน้อยกว่าที่กำหนดให้ใช้ข้อกำหนดเดิม 
 

     ยังมีเงื่อนไขในเชิงพฤติกรรมอีก 2 ข้อ ที่ต้องมาพิจารณาข้อคิดเห็นร่วมกันนะครับ ไว้มาติดตามกันในฉบับต่อไป