ศักยภาพโดดเด่น นครแม่สอด พร้อมเป็น“เมืองพิเศษ” 

25 ม.ค. 2564 | 09:20 น.

กรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา สรุปรายงานการศึกษาการยกฐานะ เทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” และเสนอยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการ “นครแม่สอด”

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา  ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา เรื่อง การยกฐานะ เทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” และเสนอยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการ “นครแม่สอด

นครแม่สอด

เนื่องจาก “นครแม่สอด” เป็นเมืองที่มีศักยภาพ ความพร้อม และความโดดเด่นของเมือง ที่จะก้าวสู่การเป็นนครพิเศษ หรือเมืองพิเศษ ที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “เมืองพัทยา” โดย “นครแม่สอด” มีแนวชายแดนติดต่อกับสหภาพเมียนมา เป็นเมืองหน้าด่านชายแดนบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC -East-West Economic Corridor)เป็นประตูสำคัญเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจ (AEC) กับตะวันออกกลางมุ่งสู่ยุโรป เพื่อยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” เพราะมีศักยภาพความพร้อม ด้านเศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งยังพร้อมทั้งด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ฯลฯ 

กรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สว. ได้พิจารณาศึกษาแล้ว เห็นควรสนับสนุน “นครแม่สอด” เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ เช่นเดียวกับเมืองพัทยา  ประกอบกับรัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) และการพัฒนาความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้อง Sister City (แม่สอด-เมียวดี เมียนมา) เสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อขยายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ไทย-เมียนมา เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 249 กำหนดให้มีการจัดการปกครองท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น อีกด้วย  

ศักยภาพแม่สอด

ที่ประชุม สว. เห็นชอบรายงานการพิจารณาศึกษาของกมธ.ดังกล่าว เพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภา และคณะ  เคยเดินทางมาลงพื้นที่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนหน้านี้ และพบว่า “นครแม่สอด” เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก มีความพร้อมและศักยภาพ ในการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” รวมทั้งเดินทางข้ามไปจังหวัดเมียวดี สหภาพเมียนมา เพื่อลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง และศึกษาดูงานเมืองการค้าชายแดน ด่านแม่สอด-เมียวดี ที่ด่านชายแดนแห่งนี้มีบทบาทในการรวบรวมสินค้าจากชายแดนไทย และนำสินค้าไปกระจายยังเมืองสำคัญต่างๆ ในเมียนมา เช่น จังหวัดผาอัน กอกาเรก มะละแหม่ง นครหลวงย่างกุ้ง และบางส่วนส่งต่อไปยังอินเดีย-ปากีสถาน ฯลฯ ไปยังตะวันออกกลาง และยุโรป 

คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สว. ยังไปดูโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 และ 2 รวมถึงการลงพื้นที่ดูงานการบริหารจัดการเขตการค้าชายแดนแม่สอด พื้นที่ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด 

แม่สอดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย ติดกับเมืองเมียวดีที่อยู่อีกฝั่ง ที่รัฐบาลเมียน มาทุ่มเทพัฒนาจนถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เป็นเมืองพิเศษล้ำหน้าไทยไปแล้ว และสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ไทย เกาหลี อเมริกา ย้ายฐานลงทุนไปที่เขตเศรษฐกิจเมียวดีและโก๊กโก่ อาทิเช่น บริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด  เคอรี่โลจิสติกส์ (KERRY LOGISTICS) บริษัท ท็อป ฟอร์ม บราเซีย จำกัด  กลุ่มทุนจีน YATAI INTERNATIONAL ฯลฯ 

 

สะพานมิตรภาพ1

ก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 การค้าการลงทุนผ่านด่านแม่สอดคึกคักมาก โดยปี 2551 มูลค่าประมาณ 17,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2557 เพิ่มเป็น 55,900 ล้านบาท ปี 2561 ประมาณ 73,272 ล้านบาท และปี 2562 ประมาณ 69,468 ล้านบาท จะเห็นว่ามีมูลค่าที่มีนัยสำคัญ หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม สามารถผลักดันศักยภาพการค้าชายแดนให้เติบโตเพิ่มขึ้นไปได้อีกมาก

การเติบโตทางเศรษฐกิจของแม่สอด ทำให้มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามแดนเข้ามาทำงานในพื้น ทั้งเป็นการเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าว หรือแบบเช้ามาเย็นกลับ เนื่องจากแม่สอดมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตหลายแห่ง รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแนวชายแดน รองรับการลงทุนใหม่ ๆ ของภาคเอกชน โดยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งมอเตอร์เวย์ อุโมงค์ ทางรถไฟ  จำเป็นต้องได้รับการดูแลมีระบบบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว ที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ พื้นที่ในส่วนของเทศบาลนครแม่สอด และเทศบาลตำบลท่าสายลวด  จังหวัดตาก สามารถพัฒนาให้เป็นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน จากการเป็นพื้นที่หนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก การควบรวมเทศบาลทั้งสองแห่ง โดยการยกฐานะขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อให้สามารถจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. ..... ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความเห็นชอบจากประชาชนทั้งสองพื้นที่และทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว 

ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก  กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ที่ได้พิจารณาศึกษาและเสนอที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ เพื่อขอยกฐานะเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” เช่นเดียวกับเมืองพัทยา เพราะมีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ฯลฯ 

ประกอบกับรัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดตาก (อ.แม่สอด-พบพระ-อ.แม่ระมาด) และการพัฒนาความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้อง Sister City (แม่สอด-เมียวดี เมียนมา) เสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อขยายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวไทย-เมียนมา 

นครแม่สอด เป็นศูนย์กลางที่เหมาะสมกับการเป็น อปท.รูปแบบพิเศษอย่างยิ่ง เพื่อการบริการกิจการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล และการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 249 กำหนดให้มีการจัดการปกครองท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นอีกด้วย  

ศักยภาพโดดเด่นของแม่สอดจะยิ่งได้รับการเจียระไนให้แวววาวด้วยสถานะใหม่ “นครแม่สอด” ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งใหม่ล่าสุดของไทย

 

อัศวิน พินิจวงษ์/รายงาน

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564