บริหารหนี้คึกรับหนี้เสียพุ่ง

27 ธ.ค. 2563 | 00:50 น.

ตลาดบริหารหนี้ปีหน้ายังโต จากยอดพักชำระกว่า 3 แสนล้านมีแนวโน้มไหลเป็นเอ็นพีแอล 20-30% “BAM” พร้อมตั้งเป้ารับซื้อ 1.7 หมื่นล้าน “JMT” เตรียมหน้าตัก 6 พันล้าน  ค่าย “ชโย” คาดขยายตัวไม่น้อยกว่า 25% หลังไตรมาส3 โต 58%

อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย(Interest Coverage Ratio:ICR) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่า กิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนของกิจการไทยลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่าในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีจึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม ดังนั้นจึงมีการประเมินว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% ของสินเชื่อรวมในระบบ 14 ล้านล้านบาท หรือจะคิดเป็นมูลหนี้้ราว 4.9 แสนล้านบาทซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับธุรกิจบริหารหนี้ 

 

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ BAMเปิดเผย บริษัทตั้งเป้ารับซื้อหนี้เอ็นพีแอลปีหน้าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากแผนรับซื้อเอ็นพีแอล 1 หมื่นล้านบาทและการขายสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ)อีก 7,000 ล้านบาทจากที่คาดว่า จะปิดสิ้นปีนี้ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งเป็นผลจัดเก็บและยอดขายเอ็นพีแอล

 

“ปีนี้เอ็นพีแอลเข้าสู่ตลาด 7-8 หมื่นล้านบาท ปีหน้าอาจจะมากกว่าเดิม เพราะยังไม่รู้ว่าหนี้ที่ได้รับผ่อนปรนและปรับโครงสร้างหนี้จะกลับมาเป็นหนี้เสียเท่าไร ถ้าคำนวณแบบระมัดระวัง เกิดหนี้เสีย 10%ของยอดหนี้ที่พักชำระหนี้ 7.2 แสนล้านบาท ขณะที่ระบบธนาคารแข็งแรง จึงไม่น่าจะรีบเทขายหนี้ออกจำนวนมาก แต่แนวโน้มภาพรวมหนี้เสียจะขยับขึ้น”

 

ด้านกำลังซื้อยังมีความต้องการซื้อทรัพย์แนวราบทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินเปล่า ส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีทีดินเก็บสะสม หันมาซื้อเอ็นพีเอแนวราบ ยกเว้นคอนโดฯ ที่ยังมีสต็อคคงค้าง ขณะที่ราคาทรงตัว แต่จะปรับราคาเพิ่มตามทำเลที่มีความเจริญและตัดถนน เช่น มีนบุรี หนองจอก กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกตำบลสาย1 พุทธมณฑลสาย2 ฯลฯ ปัจจุบันมีพอร์ตเอ็นพีแอลอยู่ 4.8 แสนล้านบาทและเอ็นพีเอ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยสิ้นปีคาดว่า จะมีรายได้รวม ซึ่งเป็นผลเรียกเก็บและยอดขายทรัพย์ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

บริหารหนี้คึกรับหนี้เสียพุ่ง

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด(มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า ปีหน้าบริษัทเตรียมงบประมาณ 6,000 บาท เพื่อรับซื้อหนี้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ซึ่งสถาบันการเงินจะทยอยขายเอ็นพีแอล บางส่วน โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มรายย่อยภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล แต่ธปท.และสถาบันการเงินช่วยกันดูแลในการจัดชั้นเป็น Stage2 หรือหนี้จับตาเป็นพิเศษราว 3 แสนล้านบาท อาจจะมีบางส่วนผ่อนชำระไม่ไหว ให้ออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่าในปีที่ผ่านมา 

 

“เราก็ไม่อยากเห็นเอ็นพีแอล ออกมามากเกินไป เพราะจะสะท้อนเศรษฐกิจไม่ดี แต่ในเชิงธุรกิจรับบริหารหนี้ยังเติบโตต่อได้อีกโดยมองว่า จะเห็นการขายเอ็นพีแอลต่อเนื่องในครึ่งหลังปีหน้า และน่าจะถึงจุดตํ่าสุดของเอ็นพีแอล ซึ่งเจเอ็มทีพร้อมจะรับซื้อหนี้ทุกช่วงอายุ”

 

ทั้งนี้ปัจจุบันพอร์ตรวมมูลค่า 1.95 แสนล้านบาท ขณะที่พอร์ตรับจ้างติดตามหนี้พอร์ตอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาททรงตัวจากปีก่อน แบ่งเป็นหนี้เก่าค้างชำระมานานแล้ว ซึ่งปกติลูกหนี้จะมีการจ่ายไม่ตรงเวลาทุกเดือน อาจจะจ่าย 2 เดือนครั้งซึ่งกลุ่มนี้จะไม่กระทบมาก เพราะไม่เหมือนลูกหนี้ที่เคยจ่ายปกติ และลูกหนี้ที่ค้างชำระใหม่ซึ่งส่วนนี้ไม่เติบโตเพราะช่วง 3เดือนที่ผ่านมาทางสถาบันการเงินเรียกบัญชีลูกหนี้กลับไปเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ช่วยประคองลูกหนี้

 

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ CHAYO กล่าวว่า ปีหน้ามองแนวโน้มลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างพักชำระหรือปรับโครงสร้างหนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะค่อยๆ ทยอยเป็นเอ็นพีแอล เมื่อหมดมาตรการผ่อนปรน ซึ่งถ้าเอ็นพีแอลเพิ่ม 3.5% ตามตลาดประเมินไว้ถือว่า มีความสามารถจัดการได้ดีในช่วงโควิด-19 โดยส่วนตัวเห็นด้วยและไม่คิดว่าจะเป็นเอ็นพีแอลรุนแรง 6-7% ที่สำคัญนโยบายของธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งพยายามจะปรับโครงสร้างหนี้อาจจะ 6 เดือน และ 1 ปี โดยผ่อนเงื่อนไขช่วยลูกหนี้

ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ CHAYO รับจ้างติดตามหนี้ ทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันก็จะช่วยลูกหนี้ตามนโยบายธนาคาร เช่น ปรับเงื่อนไขให้ผ่อนชำระ 5%จากเมื่อก่อนต้องผ่อน 10% เช่นวงเงินกู้ 2 ล้านบาท จ่าย 7,000 ล้านบาท ถ้าเป็นลูกหนี้ปกติ คิดดอกเบี้ย 7%ต่อปี ถ้าลูกหนี้เอ็นพีแอลดอกเบี้ย 12-15%ต่อปี ส่วนสินเชื่อบ้านถ้ากู้คงที่ 3ปี อัตราดอกเบี้ยราว 3%ต่อปี ถ้าระยะเวลากู้เกินจากนี้ อาจคิดดอกเบี้ย 6-7% ต่อปี

 

“ปกติสถาบันการเงินจะอั้นพอร์ตเอ็นพีแอลไม่เกิน 4% แต่หากแตะระดับ 4% ก็จะขายออก ซึ่งไตรมาส1 ปีหน้าเอ็นพีแอลจะค่อยๆไหลสู่ตลาด” 

 

สำหรับพอร์ตรับจ้างบริหารมีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ล้านบาทปีก่อน โดยมีจำนวน รายลูกหนี้เพิ่มเกือบ 2 แสนราย ส่วนพอร์ตรับซื้อหนี้ปีนี้แตะ 5.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 3.6 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอดจัดเก็บลดลง 20% และบริการออนไลน์และสินเชื่อปีนี้ไม่เติบโตโดยปล่อยสินเชื่อ เพียง 60 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นความระมัดระวังของบริษัทเองโดยรวมไตรมาส3 ปีนี้ บริษัทเติบโต 58% 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,639 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563