อัด สองมาตรฐาน ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ปิดกั้นทางเลือกเลิกบุหรี่

17 ธ.ค. 2563 | 09:40 น.

เสียงสะท้อนผ่านโซเชียล มีเดีย ของนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ทวงถาม “ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย?” สะท้อนการรณรงค์ควบคุมยาสูบในประเทศไทย ปฏิเสธการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกอย่างสิ้นเชิง แฉช่องโหว่ความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย ปิดกั้นประชาชนเข้าถึงทางเลือก

 

ประเด็น “ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย?” ถูกดึงขึ้นมาสู่ความสนใจอีกครั้ง เมื่อ นายสมบัติ บุญงามอนงค์  นักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ที่เป็นที่รู้จักกันดีในนามแฝง “บก.ลายจุด”  ได้โพสต์แสดงความคิดเห็น ทางเฟซบุ๊กเพจ ปรากฎครั้งแรก เมื่อเวลา 21.01 น.วันที่ 9 ธันวาคม 2563  เนื้อความวิพากษ์เจ้าหน้าที่รัฐและการใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม กรณีมีตำรวจจับคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่กลับมีภาพตำรวจใช้บุหรี่ไฟฟ้าเสียเองแบบเห็นกันต่อหน้าต่อตาเลยทีเดียว
 

ข้อความในโพสต์ นายสมบัติ เขียนว่า “โดยส่วนตัวผมไม่มีปัญหากับตำรวจที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและในทางกลับกันผมรู้สึกดีที่ตำรวจรู้จักรักษาสุขภาพเลือกสิ่งที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าบุหรี่ และผมเคยนั่งในห้องทำงานของนายตำรวจระดับสูงคนหนึ่งที่เชิญผมไปพูดคุยที่ห้องทำงานเมื่อหลายปีก่อนตอนเคลื่อนไหวการเมืองจัดๆ ขณะที่คุยกันนั้นนายตำรวจก็ควักบุหรี่ไฟฟ้ามาสูบต่อหน้าผมและสูบในห้องทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในขณะที่ข้างนอกตำรวจไล่จับวัยรุ่นที่พกบุหรี่ไฟฟ้ากันมันส์เลย”
 

อัด สองมาตรฐาน ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ปิดกั้นทางเลือกเลิกบุหรี่


โพสต์ดังกล่าวพาดพิง การดำเนินการตาม “นโยบายจัดระเบียบสังคม” ของรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งเริ่มเข้าสู่อำนาจตั้งแต่คณะคสช.ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 และเอ่ยพาดพิงถึง การมีนายแพทย์ชื่อดัง นักรณรงค์ลดคนสูบบุหรี่ในไทยได้เห็นผลแต่ยังต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าแบบไม่ฟังเสียงของฝ่ายสนับสนุนนั้น สะท้อนให้เห็นภาพรัฐบาลยังอุ้มธุรกิจโรงงานยาสูบในไทย  โดยไม่สนใจประชาชนที่ต้องการทางเลือกอื่นเลย  
 

บก.ลายจุด กล่าวทิ้งท้ายในโพสต์เดียวกันว่า  “อะไรที่มันชัดเจนอยู่แล้วว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี เปลี่ยนแปลงเถอะครับ อย่าเป็นปัจจัยที่ทำร้ายประชาชนเลย”
 

ในโพสต์ของนายสมบัติ มีผู้อ่านกดไลค์กว่า 9 พันคน และมีผู้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนจำนวนมาก รวมถึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในชื่อ Ble Kritsakorn ที่แชร์ประสบการณ์ข้อดีของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ถาวร ว่าเคยติดบุหรี่หนักมาก วันละ 5 ซอง 100 มวน ก่อนจะเปลี่ยนมาซื้อแบบมวนเอง เพราะประหยัดกว่า พอเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก็ค่อยๆ ลดนิโคตินลง ตอนนี้เลิกหมดแล้วทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดเวลาที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เห็นแต่เรื่องโกหกของหมอที่ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า
 

ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อกฎหมายห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขาด ตาม คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่องห้ามขายหรือให้บริการสินค้า บารากุ บารากุไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาฯ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อัด สองมาตรฐาน ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ปิดกั้นทางเลือกเลิกบุหรี่