เปิดคู่มือเตรียมพร้อม เลือกตั้งอบจ. 20 ธ.ค.นี้

16 ธ.ค. 2563 | 21:30 น.

เปิดรายละเอียด-ขั้นตอน "เลือกตั้ง อบจ." 20 ธ.ค.63 สรุปครบทุกเรื่องที่นี่

สำหรับผู้ที่รักในประชาธิปไตยทุกคนต้องไม่พลาดออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น. 

 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ.

1.มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2.อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง

3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง

4.คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

ตรวจสอบสิทธิ์ของตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ ตรวจสอบผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. โดยกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักได้ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/ 

 

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง อบจ.

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
  • บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • ใบขับขี่
  • หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ฯลฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดขั้นตอน-วิธีการ แจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้งท้องถิ่น 20 ธ.ค.

กกต.เตือน 6 สิทธิถูกตัด หากไม่ไปเลือกตั้งท้องถิ่น 20 ธ.ค.

กกต.เปิดให้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.ได้แล้ว 

เปิดโผตัวเต็งเลือกตั้งนายก อบจ.ภาคเหนือ 15 จังหวัด

 

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้งอบจ.

1.ตรวจสอบรายชื่อ

ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง

2.ยื่นหลักฐานแสดงตน
แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ

 

3.รับบัตรเลือกตั้ง
ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

 

4.ทำเครื่องหมายกากบาท
เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้
- บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
- บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่
   แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี
หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง

 

5.หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง โดยนำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

 

ส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียน เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง 2 ปี โดยสามารถแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/8 โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสาร หนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  หรือที่ https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=419

 

หรือทำเป็นหนังสือโดยต้องระบุหมายเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านให้ชัดเจน

 

พร้อมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แล้วยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (ระหว่างวันที่ 13- 19 ธันวาคม 2563) หรือภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง (ระหว่างวันที่ 21- 27 ธันวาคม 2563)

 

ตัวอย่างเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดโผตัวเต็งเลือกตั้งนายก อบจ.ภาคกลาง

เปิดโผตัวเต็งเลือกตั้งนายก อบจ.ภาคเหนือ 15 จังหวัด

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งแล้วแต่เหตุนั้นไม่เป็นเหตุอันสมควรจะถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รวม 6 ประการ ดังนี้

 

1.สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

2.สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

3.เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

4.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตมกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา

5.ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารองถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

6.ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

 

ทั้งนี้ หากข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริการข้อมูลสายด่วน 1444