ทุนนอก-ผู้ส่งออกแห่ทิ้งดอลลาร์ กดค่าเงินแข็งหลุด 30 บาท

09 ธ.ค. 2563 | 12:11 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นเข้าทดสอบแนว 30.00 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 30.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสัญญาณอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ และแรงขายเงินดอลลาร์ฯของกลุ่มผู้ส่งออก ประกอบกับมีจังหวะการสลับเข้าซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ 3,574 ล้านบาท (แม้จะขายสุทธิในตลาดหุ้นที่ 2,573.60 ล้านบาท)
 

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนจากข้อมูลของธนาคาร 10 แห่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2563 โดยธปท. อยู่ที่ -3.12 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ 2.06 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 
 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทคาดไว้ที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทของธปท. ผลการประชุมนโยบายการเงินของ Fed (15-16 ธ.ค.) กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองและสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนธ.ค. ข้อมูลยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนพ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ และ BOE การเจรจาข้อตกลง BREXIT ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซนและอังกฤษเช่นกัน
 

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วประมาณร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ทำให้สกุลเงินภูมิภาคหลายประเทศปรับแข็งค่าขึ้นมาก อาทิ เงินหยวนแตะระดับแข็งค่าในรอบ 2 ปีครึ่ง เงินวอนเกาหลีใต้และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แตะระดับแข็งค่าในรอบ 3 ปี เงินดอลลาร์ไต้หวันแตะระดับแข็งค่าในรอบ 23 ปี 
 

ขณะที่ เงินบาทก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.5 เทียบกับเงินวอนเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 4.5 และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่ร้อยละ 3.9  อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับต้นปี เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่เล็กน้อย  
 

ทั้งนี้ ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและได้เข้าดูแลเพื่อชะลอความผันผวนที่จะกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงจะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด