เปิดปัจจัยบวก -ปัจจัยลบธุรกิจบัตรเครดิตปี 64

26 พ.ย. 2563 | 08:07 น.

วิจัยกรุงศรีประเมินแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตปี 64 คาดเติบโต 5.7% โดยมีปัจจัยบวกมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชำระเงินออนไลน์มากขึ้น และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิรซ์

วิจัยกรุงศรีเปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่องแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิต ปี 2564 -2566  พบว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีแนวโน้มหดตัว 14.8% ในปี 2563 จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ( COVID-19) แต่ในปี 2564-2566 คาดว่าจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 5.7% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความนิยมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นและการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce รวมถึงการใช้จ่ายผ่านบัตรภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง 


อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของภาครัฐ 


รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานอาจเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้เสีย ตลอดจนการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงจากทั้งผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินและ Non-banks ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการมุ่งปรับกลยุทธ์รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจดังต่อไปนี้
 

การเตรียมพร้อมรับมือกับคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลง โดยใช้มาตรการเชิงรุก (Pre-emptive measure) ในการจัดการกับปัญหา NPLs ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ตกชั้นไปเป็น NPLs โดยการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ปกติมากขึ้น การเจรจากับลูกหนี้ การยืดการชำระหนี้ออกไปและลดอัตราดอกเบี้ย 


รวมถึงการตัดจำหน่ายหนี้เสีย เร่งตั้งสำรองเพื่อรองรับกับหนี้เสียที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะทำให้ผลกำไรของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลง


การขยายตลาดบัตรเครดิตผ่านการชำระเงินออนไลน์ (Online payment) ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเข้าถึงฐานลูกค้าในอนาคต เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านการเลือกซื้อสินค้าและบริการทางช่องทางออนไลน์


 ดังนั้น การขยายช่องทางการชำระเงินร่วมกับพันธมิตรผู้ให้บริการสินค้าออนไลน์ จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกและเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่ม Millennial และ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินด้วยช่องทางดิจิทัล
 

การขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีศักยภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อโดยการเน้นทำตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจำกัดจาก COVID-19 เช่น ผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน หรือบุคคลที่มีความมั่นคงทางรายได้ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ข้าราชการ หรือพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ e-Commerce


การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เพื่อช่วยให้สามารถประเมินความเสี่ยงของลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้แต่ขาดหลักฐานทางการเงินเกี่ยวกับรายได้ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเข้าถึงข้อมูลด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้บริการทางการเงิน อาทิ ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค และค่าโทรศัพท์ เป็นต้น


การแข่งขันให้สิทธิประโยชน์ผ่านการใช้บัตร (Rewards) ยังเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรหลักของตน ดังนั้น ผู้ออกบัตรจึงต้องแข่งขันเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จาก Rewards ที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน การผูกสิทธิประโยชน์สำหรับการใช้จ่ายผ่านผู้ให้บริการ e-Commerce และการใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไป รวมถึงการให้ Cash back สำหรับการซื้อสินค้ากับร้านค้าที่ร่วมรายการ เป็นต้น


บทสรุปจากแนวโน้มของสถานการณ์ในตลาดบัตรเครดิตภายใต้สภาวะคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงในปัจจุบันและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะการเข้ามาแข่งขันของผู้ให้บริการรายใหม่ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า การพัฒนาบริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงการให้บริการจึงเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันสำหรับธุรกิจบัตรเครดิตในระยะข้างหน้า