งานเข้า กทม!! บีทีเอส ส่อเก็บค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 158 บาทตลอดสาย

23 พ.ย. 2563 | 07:15 น.

บีทีเอส ยันภาระต้นทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว-น้ำเงิน ต่างกัน เหตุบีทีเอสต้องแบ่งรายได้ให้กทม.กว่า 2 แสนล้าน ลั่นหากไม่ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทบกทม.รับภาระหนักเก็บค่าโดยสาร 158 บาทตลอดสาย

           นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปอีก 30 ปี จากที่จะหมดอายุปี 2572 เป็นหมดอายุ ปี 2602  ในส่วนของค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดไม่เกิน 65 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไป  หากเทียบค่าโดยสารและระยะทางของรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว กับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จะพบว่า ค่าเฉลี่ยค่าโดยสารใกล้เคียงกัน โดยสายสีเขียวมีระยะทาง 68 กิโลเมตร(กม.)59 สถานี เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย  ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 48 กม.38 สถานี เก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้นทุนเพราะภาระต้นทุนระหว่างสีเขียวและสีน้ำเงินต่างกันมากโดยสายสีเขียวบีทีเอสต้องรับชำระหนี้ค่างานโยธาแทนกทม. กว่า 6 หมื่นล้าน

 

           “สายสีน้ำเงินไม่ต้องมีต้นทุน รัฐออกค่างานโยธาให้ทั้งหมด นอกจากนี้บีทีเอสต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. ทุกปี รวมแล้วเกิน 2 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับหนี้ต่างๆ รวมถึงวงเงินที่ต้องลงทุนเพิ่มเติม ทำให้ค่าต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวเกิน 3 แสนล้านบาท ขณะที่สายสีน้ำเงินไม่ต้องแบ่งรายได้ ยกเว้นว่าผลตอบแทนลงทุนเกินกว่า 9.75% จึงจะจ่ายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ส่วนสายสีเขียว หากผลตอบแทนเกินกว่า 9.60% ต้องแบ่งรายได้ให้กทม. เพิ่มอีก”

 

อ่านข่าว  ไขข้อข้องใจ ทำไม!! กทม.เตรียมหยุดเดินรถไฟฟ้า BTS “สายสีเขียว” ส่วนต่อขยาย

อ่านข่าว ส่อวุ่น กทม.เตรียมหยุดเดินรถไฟฟ้า ”สายสีเขียว” ส่วนต่อขยาย

           นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานให้บีทีเอส และจะเปิดประมูลใหม่หรือไม่นั้น คงต้องรอให้สัมปทานหมดลงก่อนในปี 72 แต่จากการที่ กทม. เคยประเมินความสนใจของเอกชน (Market Sounding) ก็พบว่า ไม่มีเอกชนสนใจ อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปเรื่องการต่ออายุสัมปทานนั้น เพราะเดือน ธ.ค.นี้ จะเปิดเดินรถเพิ่มอีก 7 สถานีจนถึงสถานีคูคต โดยจะเป็นการให้บริการสายสีเขียวครบตลอดทั้งเส้นเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานี  ขณะเดียวกันถ้าไม่ต่อสัมปทานทาง กทม. จะมีภาระที่ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ และต้องเก็บค่าโดยสารตามระยะทางโดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท ซึ่งการจะเปิดเดินรถฟรีไปตลอดก็คงไม่ได้ เพราะจะยิ่งเป็นภาระแก่ กทม. ดังนั้นจึงต้องทำให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วเพราะหากต่ออายุสัมปทานก็จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

           ทั้งนี้สำหรับข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม 4 ข้อนั้น ดูแล้วไม่น่ามีปัญหา ทางกระทรวงมหาดไทย(มท.) คงตอบได้ทั้งหมด ซึ่งประเด็นการจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ยังอยู่ในขั้นตอนไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นั้น ทางอัยการชี้แจงแล้วว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลไม่เกี่ยวและไม่มีผลกระทบกับการจ้างเดินรถ ขณะที่ประเด็นการใช้อำนาจ ม.44 ยกเว้นการใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชนนั้น ต้องถือว่า ม.44 ก็เป็นกฎหมายหากมีคำสั่งออกมาแล้ว ผลก็ยังใช้ได้อยู่ ยกเว้นว่าจะออกกฎหมายมาลบล้างผลจึงจะใช้ไม่ได้