COVID-19 ตัวจุดชนวนระเบิด CLO ของตลาดการเงินโลก

21 พ.ย. 2563 | 00:27 น.

นักวิเคราะห์ธปท. ประเมินผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 หากยังยืดเยื้อจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ การผิดนัดชำระหนี้ ปัญหาของสถาบันการเงิน และจะเป็นตัวจุดชนวนระเบิด ตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับสินเชื่อธุรกิจ(CLO) ทำให้ตลาดการเงินโลกขาดความเชื่อมั่น จนอาจนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์ลงทุนในวงกว้างได้

 

บทความเรื่อง  COVID-19: ตัวจุดชนวนระเบิด CLO ของตลาดการเงินโลก?  โดย ดร.ธีธัช เชื้อประไพศิลป์ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงทั่วโลก มาตรการ lock-down เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กระทบกับยอดขายและรายได้ของภาคธุรกิจ จนหลายกิจการเริ่มมีปัญหาด้านสภาพคล่อง หากการแพร่ระบาดยังคงยืดเยื้อต่อไป ปัญหาสภาพคล่องอาจทวีความรุนแรงขึ้นและกลายเป็นปัญหาการผิดนัดชำระหนี้โดยเฉพาะต่อธุรกิจที่มีหนี้สูง คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงเช่นนี้ นอกจากจะกระทบกับสถาบันการเงินแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพตลาดการเงินโลกผ่านตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินเชื่อธุรกิจที่เรียกว่า Collateralized Loan Obligation (CLO) ได้อีกด้วย

 

ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ตลาด CLO ขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สินเชื่อในพอร์ต CLO กลับด้อยคุณภาพลง สะท้อนถึงสินเชื่อหย่อนมาตรฐานที่มีสัดส่วนมากขึ้น เปรียบได้กับระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆในตลาดการเงินโลก ทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน และกองทุนรวม อีกทั้งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงิน นำไปสู่การเทขายสินทรัพย์ของนักลงทุนในวงกว้างได้ ดังนั้น ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการดูแลให้มีแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงของ CLO อย่างเหมาะสม

 

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา CLO เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยกระตุ้นให้บริษัทในสหรัฐฯ และยุโรปสามารถขอสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการที่บริษัทก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากดังกล่าวก็เป็นการสะสมความเปราะบาง ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด และวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นอาจเป็นการจุดชนวนระเบิดให้กับตลาดการเงินโลก เพราะเมื่อธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมประสบปัญหาสภาพคล่อง อาจทำให้การผิดนัดชำระเกิดขึ้นได้ในวงกว้าง 

 

"วิกฤต COVID-19 จึงถือเป็นบททดสอบสำคัญของ CLO ว่ากระบวนการ Securitization มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอหรือไม่ ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า ความผันผวนของราคา CLO เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับหุ้นกู้อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน และเริ่มเห็นการปรับลดอันดับเครดิตของ CLO หลายรุ่น โดยบาง tranche เริ่มหยุดจ่ายผลตอบแทน" ดร.ธีธัช เชื้อประไพศิลป์ ระบุ

 

มองไปข้างหน้าหากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย Leveraged Loan และ CLO จะเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้างได้ ดังนั้น ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการดูแลให้มีแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงของ CLO ที่เหมาะสม

 

สำหรับประเทศไทยซึ่งอาจยังไม่มีความเสี่ยงจากการถือครองตราสาร CLO โดยตรง และไม่พบการเสนอขาย CLO ในประเทศ แต่นักลงทุนอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงที่เกี่ยวข้องในตลาดการเงินโลก ผู้กำกับดูแลจึงควรระมัดระวังและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนอย่างถ่องแท้ให้กับนักลงทุน

 

อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่