ย้อนตำนาน “คลองโอ่งอ่าง” ปฐมบท “คลองรอบกรุง” 

15 พ.ย. 2563 | 09:06 น.

ย้อนรอยประวัติ “คลองโอ่งอ่าง” จุดเริ่มต้นของคลองรอบกรุง สู่สะพานเหล็ก และเป็นถนนคนเดินในปัจจุบัน 

คลองโอ่งอ่าง” คลองเล็กๆ ที่เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ที่ในอดีตรู้จักกันในนามสะพานเหล็ก แหล่งขายเกมส์ แผ่นเกมส์ แผ่นหนัง โมเดลการ์ตูน และอุปกรณ์ไอที ชื่อดัง ที่ต้องรื้อสะพานเหล็ก และบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของกรุงเทพมหานคร  เป็นถนนคนเดิน จุดพายเรือคายัค สตรีทอาร์ตฯ

คลองโอ่งอ่าง เมื่อครั้งยังเป็นสะพานเหล็ก

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูล ประวัติและตำนาน คลองโอ่งอ่าง พบว่า คลองโอ่งอ่าง คือส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุงที่ต่อจากคลองบางลำพู ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ปลายคลองไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมภาพ “คลองโอ่งอ่าง 2020” จำได้ไหมว่าที่นี่เคยเป็นสะพานเหล็ก

พายเรือ ชมคลอง ล่องย่านประวัติศาสตร์ ที่คลองโอ่งอ่าง

คลองโอ่งอ่าง

ประวัติคลองโอ่งอ่าง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวัง และขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไปนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2326 ตรงกับปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช 1144 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเดิม โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดเทพธิดาราม วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เหนือวัดสามปลื้มหรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นระยะทาง 85 เส้น 13 วา (ประมาณ 3.426 กิโลเมตร) กว้าง 10 วา (ประมาณ 20 เมตร) ลึก 5 ศอก (ประมาณ 2.5 เมตร) 

 

ในการครั้งนั้นได้สร้างกำแพงประตูเมือง ป้อมปราการ เลียบแนวคลองด้านใน ตลอดทั้งคลอง ประตูเมืองและป้อมปราการเว้นระยะห่างกันเป็นช่วง ๆ ถึง 9 ช่วง เป็นคลองคูเมืองชั้นนอก เมื่อขุดคลองแล้วพื้นที่เมืองจึงกลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ คือ ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านตะวันออกเป็นคลองรอบกรุง

คลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน

คลองรอบกรุงนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ ส่วนที่เริ่มตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดสังเวชวิทยารามจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศตรงช่วงปากคลองมหานาคนิยมเรียกว่า "คลองบางลำพู" เมื่อผ่านสะพานหันเรียก "คลองสะพานหัน" เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก "คลองวัดเชิงเลน" และช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก "คลองโอ่งอ่าง" เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน 

 

การที่เรียกชื่อแตกต่างกันมีมาตั้งแต่สมัยไหนนั้นไม่สามารถค้นหลักฐานได้ จากหนังสือเก่าซึ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเรียกชื่อคลองโอ่งอ่างกับคลองบางลำพูแล้ว เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง" ตลอดทั้งสาย

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร โดยมติของรัฐบาลได้ทำการรื้อถอนอาคารร้านค้าต่าง ๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อทำการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นถนนคนเดินที่ร่มรื่นรวมถึงมีร้านค้า และมีความสวยงามทางศิลปะเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคล้ายกับคลองช็องกเยช็อน ในประเทศเกาหลีใต้

คลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน

เมื่อแล้วเสร็จจากทางเดินริมคลองจะสามารถมองเห็นสะพานข้ามคลองที่เรียงกัน 5 สะพาน คือ สะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก), สะพานภาณุพันธ์, สะพานหัน, สะพานบพิตรพิมุข และสะพานโอสถานนท์ บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า อันเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ รวมถึงการปรับปรุงสภาพน้ำในคลองและบูรณะสะพานที่ข้ามคลองโอ่งอ่างทั้ง 5 ด้วย