อย่าลืมคืนนี้เกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตก”

12 พ.ย. 2563 | 05:06 น.

คืนนี้เกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตก” ขึ้นทางด้านทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 19.00 น. สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า

วันนี้ 12 พ.ย.  เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า คืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563  จะเกิดปรากฏการณ์ ฝนดาวตก #ฝนดาวตกทอริดส์เหนือ (Northern Taurid meteor shower) หรือ #ฝนดาวตกกลุ่มดาววัว มีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 5 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาววัว (Taurus) สังเกตเห็นได้ทางด้านทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. เป็นต้นไป เห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ตลอดทั้งคืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าลืมชม “ดาวหาง นีโอไวส์" ใกล้โลกสุด วันนี้

คืนนี้อย่าลืมชม “ดาวหางนีโอไวส์" ใกล้โลกที่สุด

พรุ่งนี้ รอชมปรากฏการณ์ "ดาวเสาร์ใกล้โลก" ที่สุดในรอบปี

 

“ฝนดาวตกทอริดส์” เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นช่วงวันที่ 20 ตุลาคม - 10 ธันวาคม ของทุกปี เกิดจากเศษฝุ่นของดาวหาง 2 พี เอ็นเก้ (2P/Encke) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหาง เมื่อโลกโคจรตัดผ่านสายธารฝุ่นที่เป็นเศษซากของดาวหางดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศเกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า

สำหรับใครที่สนใจชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก ควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน และสามารถมองเห็นได้รอบทิศทาง

สำหรับ ฝนดาวตก คือดาวตกหลายดวงที่เหมือนกันออกมาจากบริเวณเดียวกันในท้องฟ้าช่วงเวลาเดียวกันของปี ซึ่งเกิดจากเศษชิ้นส่วนในอวกาศที่พุ่งเข้าบรรยากาศโลกด้วยอัตราเร็วสูง แต่ละคราวที่ดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ จะมีเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กของดาวหางถูกสลัดทิ้งไว้ตามทางโคจร เรียกว่า "ธารสะเก็ดดาว" หากวงโคจรของโลกและของดาวหางซ้อนทับกัน โลกจะเคลื่อนที่ผ่านธารสะเก็ดดาวในช่วงวันเดียวกันของแต่ละปี ทำให้เกิดฝนดาวตก

 

การที่สะเก็ดดาวในธารเดียวกัน เคลื่อนที่ขนานกันและมีอัตราเร็วเท่ากัน ดาวตกที่เราเห็นจึงดูเหมือนพุ่งออกมาจากจุดเดียวกันในท้องฟ้า ซึ่งเป็นผลจากทัศนมิติ (perspective) เปรียบเหมือนกับที่เราเห็นรางรถไฟไปบรรจบกันที่ขอบฟ้า เมื่อยืนดูจากกลางราง

อย่าลืมคืนนี้เกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตก”