วันสำคัญ "เลือกตั้งใหญ่" ในเมียนมา

08 พ.ย. 2563 | 23:30 น.

วันสำคัญ เลือกตั้งใหญ่ในเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์


          วันที่ผมกำลังเขียนบทความนี้คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 เป็นวันสำคัญในการชี้ชะตา เลือกตั้งใหญ่ของชาวเมียนมา ซึ่งช่วงเช้าที่ผ่านมา สื่อต่างๆ ของเมียนมาก็ต่างลงข่าวกันมากมาย ช่วงเช้าผมติดภารกิจอยู่ จึงไม่สามารถติดตามข่าวมากนัก แต่พอกลับมาถึงบ้าน เปิดโทรศัพท์มือถือดู ก็ปรากฏว่าทั้งไลน์ของเพื่อนชาวเมียนมา และ WeChat  Facebook ก็มีแต่ข่าวเลือกตั้งทั้งนั้นครับ มีทั้งสัมภาษณ์ ทั้งภาพข่าว ผมเองภาษาเมียนมาก็งูๆปลาๆ รู้บ้างทายบ้าง เลยต้องรีบเปิดดูทางเวบไซต์ของหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็พอจะได้บางส่วน เลยต้องใช้วิธีโทรไลน์ไปสอบถามน้องๆ ที่บริษัทและเพื่อนๆ เอาครับ

          เท่าที่พนักงานของบริษัทรายงานมา ทั่วเขตย่างกุ้งมีความตื่นตัวกันมาก คนที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ต่างออกไปลงคะแนนเสียงกันอย่างคึกคัก บางเขตเช่นที่ติ่งกันจุน ย่างกุ้ง มีคนไปรอเข้าคิวตั้งแต่เช้าตี 5 เลยก็มี ผมก็ถามว่าคิวยาวมั้ย น้องเขาบอกว่ายาวเหมือนกัน เขาไป 6 โมงเช้า พอเปิดตู้ให้ลงคะแนน ใช้เวลาไม่นานในการลงคะแนน เพราะมีเจ้าหน้าที่มาคอยช่วยตลอด ดีกว่าสมัยเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อปี 2015 เยอะมาก ถึงแม้ครั้งนี้จะมีปัญหาการระบาดของโรคร้ายก็ตาม และเท่าที่ทำการประเมินจากสายตาของน้องที่บริษัท บอกว่าทุกคนต่างไม่ค่อยเกรงกลัว COVID-19 กันเลย บางคนที่ออกไปใช้สิทธิ์ส่วนมากก็จะใส่หน้ากากอนามัยกันออกไป แต่ก็มีคนส่วนน้อยโดยเฉพาะวัยรุ่นที่ไม่ใส่กัน อย่างไรก็ตามทุกเขตเลือกตั้งเขาจะมีหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือแจกให้ฟรีทุกเขตครับ ซึ่งก็ดูแล้วไม่น่ากลัวเหมือนที่คิดครับ

          พนักงานที่บริษัทผม แม้กระทั่งยามก็ขออนุญาตออกไปใช้สิทธิ์ จะมีเหลือแค่น้องอีกคน ที่มาจากเขตตองจี ที่ไม่ได้ไปลงชื่อขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้า ที่เขาให้ไปลงชื่อก่อนวันที่ 25 ตุลาคม จึงจะมีสิทธิ์มีเสียงครับ ในขณะที่น้องอีกคนหนึ่งก็บอกว่า ที่บ้านเขามีคนที่อายุเกิน 18 ปีอยู่มากถึง 6 คน แต่รายชื่อที่เช็คได้ก่อนวันเลือกตั้งเพียงวันเดียว เหลือเพียง 3 คนเท่านั้น เขาก็บอกกับเจ้าหน้าที่ไป ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ในส่วนตัวน้องเขาก็คิดว่าน่าจะมีการโกงกันแน่ ผมก็ได้แต่บอกว่า ให้มองโลกในแง่บวกเข้าไว้ อาจจะเป็นการผิดพลาดจากการดำเนินการก็ได้

          ในส่วนของการแข่งขันกันหาเสียงนั้น ในช่วงแรกๆ ที่ผ่านมา ในเขตเมืองย่างกุ้งก็มีการแข่งขันกันอยู่ 4 พรรคใหญ่ คือพรรค NLD พรรค USDP พรรค PPP และพรรค UBP โดยทางน้องๆ เขาก็มองว่าครั้งนี้สองพรรคหลัง มีการลงหาเสียงที่ค่อนข้างแปลกๆ ในเขตติ่งกันจุน และเขตมินีกองโดยเฉพาะพรรค PPP ที่มีการส่งรถพุ่มพวง นำเอาสินค้าอุปโภค-บริโภคไปขายให้ในราคาถูกมาก แบบไม่น่าเชื่อเลย เขาก็คิดว่าน่าจะมีคะแนนบ้าง แต่ผลหลังการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เข้าใจว่าไม่ติดอันดับแน่เลย

          ผมก็ถามไปว่าคุณรู้ได้อย่างไร ได้เข้าไปดูเขานับคะแนนด้วยเหรอ เขาบอกว่าทางการไม่ให้เข้าไปดู เพราะเขาห่วงเรื่อง COVID-19 แต่เขาดูทาง Facebook เท่านั้น ต้องรอดึกๆหน่อยน่าจะรู้จากผลนับคะแนน ส่วนที่พอจะรู้ผลได้ ก็คงจะมีเพียงในเมืองใหญ่ๆเท่านั้น เมืองเล็กๆ หรือที่ห่างไกลหน่อย คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร คิดว่าน่าจะจบสิ้นกระบวนความ คงต้องอีกหนึ่งอาทิตย์แน่นอนครับ

          ในส่วนของชนชาติพันธุ์ที่มีการลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่เห็นข่าวว่ามีใครสอบได้ติดโผบ้างเลย ผมเองคิดว่าต้องรออีกนิดนะครับ แต่เท่าที่ดูจากผลการนับคะแนนในเขตย่างกุ้งทั้งหมดในขณะนี้เป็นเวลา 19:00 น. พรรคที่นำมากที่สุดคือพรรค NLD ที่ชนะเกือบทุกเขตเลย แต่ผลการนับคะแนนยังไม่ถึง 20% นะครับ แต่ที่แน่ๆ คือที่เมืองใหญ่ๆก็เป็นของ NLD เกือบทั้งหมดเลยครับ หรือที่เมืองเล็กเช่นที่เมืองนัทเม้า เมืองบ้านเกิดของท่านนายพลอ่องซาน ปรากฏว่าไม่มีผู้ที่ลงคะแนนให้พรรคอื่นเลย เท่าว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ลงให้ NLD ทั้งหมดเลยครับ 

          คงต้องขออนุญาตรายงานเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ท่านใดที่สนใจการเมืองเมียนมา สามารถติดตามผมได้ และในวันที่ 11 พ.ย.นี้ โดยผมนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ กับอาจารย์เกษมสันต์ วีรกุล จะร่วมเสวนากัน โดยมีน้องจอย ศุนันทวดี อุทาโย เป็นผู้ดำเนินรายการ งานนี้ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและพันธมิตรจะจัดงาน Dinner Talk เรื่อง “เศรษฐกิจการลงทุนในยุคโควิด-19 หลังการเลือกตั้งในประเทศเมียนมา” เวลา 18:30 น. ณ The Odeum Bangkok ราคาอาหารท่านละ 350 บาท ไม่มีค่าสถานที่ใดๆ ครับ สนใจรีบจองที่นั่งที่ 02-718-5274-80 ต่อ 202 หรือที่ 02-345-1151 02-345-1128 นะครับ