หนี้สาธารณะ ปี64 พุ่ง 57.23% ต่อจีดีพี

07 พ.ย. 2563 | 07:23 น.

สบน.จี้ รัฐวิสาหกิจ เร่งเบิกจ่ายตามแผนบริหารหนี้ฯ หวังช่วยดันเศรษฐกิจปี 64 โตต่อเนื่อง แต่จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีพุ่ งสูงขึ้นถึง 57.23% แต่ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

ภาพรวม เศรษฐกิจไทยปี 2563 ล่าสุด แม้จะดีกว่าที่คาดไว้ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทยปี 2563 จะติดลบเพียง 7.7% จากที่เคยมองว่า จะติดลบถึง 8.5% หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ แม้จะมีความวุ่นวายทางการเมืองก็ตาม และคาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นที่ระดับ 4.5% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 6% ตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัว การบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ดีขึ้น

 

กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) รวมถึงหน่วยงานที่ดำเนินโครงการทั้งของภาครัฐและ  รัฐวิสาหกิจ 21 หน่วยงาน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการประปาส่วนภูมิภาค

 

ทั้งนี้เพื่อติดตาม เร่งรัดการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้เป็นไปตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564

หนี้สาธารณะ ปี64 พุ่ง 57.23% ต่อจีดีพี

โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการให้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ผ่านระบบ DDPLAN ของสบน. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเร่งรัดการขับเคลื่อน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศ เพื่อให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบ ให้มีการจ้างงาน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในปี 2564 ให้มีความต่อเนื่องจากปี 2563 ด้วย

คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 28 กันยายน 2563 เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงินดำเนินการ 1,510,238 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน  291,809 ล้านบาท (รวมงบลงทุนในรูปแบบสัญญาเช่าที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากกิจกรรมหลักโดยตรง วงเงินดำเนินการ  1,431 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน  348 ล้านบาท)

 

โดยแบ่งเป็น (1)กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ 1,210,238 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 241,809 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ 300,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สบน.จะเข้าไปเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของทุกหน่วยงานให้ได้ตามแผนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนลงสู่ระบบให้มากที่สุด เพราะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ต่างๆ มีผลต่อการจ้างงาน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้ด้วย

 

"หลังจากนี้ ตนจะเข้าไปติดตามและสั่งการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจะปรับแผนการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อการลงทุนต่อเนื่องมากขึ้นกว่าเดิม"

 

หนี้สาธารณะ ปี64 พุ่ง 57.23% ต่อจีดีพี

 

 อย่างไรก็ตาม สบน.ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายดังกล่าวว่าจะเป็นเท่าไร เพราะตัวเลขการกู้มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา แต่โดยเฉลี่ยทุกๆ ปีที่ผ่านมา ยกเว้นปีงบประมาณ 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การลงทุนต่างๆ ชะลอตัว การเบิกจ่ายงบลงทุนตามแผนการกู้เงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 80-90% อยู่แล้ว

“ปีที่แล้ว เบิกจ่ายได้น้อย ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะมีปัญหาโควิด แต่ปีนี้จะเข้าไปดูด้วยตัวเอง เพื่อจี้ให้เกิดการลงทุนและเบิกจ่ายตามแผนให้ได้มากที่สุด เพราะเราจะช่วยให้เม็ดเงินตรงนี้ ไปเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหน่วยงานที่เบิกจ่ายล่าช้า ก็ต้องยอมรับ อย่างเช่น รถไฟฟ้า เพราะเป็นโครงการใหญ่ มีข้อจำกัดปลีกย่อย แต่เราก็จะเร่งให้เร็วที่สุดในปีนี้ให้ได้”นางแพตริเซียกล่าว

 

 ขณะเดียวกัน การลงทุนขนาดใหญ่จะมีการใช้เงินกู้ตามกรอบการกู้เงินของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ภายใต้การจัดทำแผนการกู้ดังกล่าว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบ ประมาณ 2564 (ก.ย.2564) จะอยู่ที่ 57.23% เพิ่มขึ้นกว่าสิ้นปีงบประมาณ 2563 ที่อยู่ที่ระดับ 49.35% ต่อจีดีพี แต่จะยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ว่า จะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี

 

ทั้งนี้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้กรอบวงเงิน 2.744 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งเป็นแผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 1.465 ล้านล้านบาท เป็นการบริหารหนี้เดิมวงเงิน 1.279 ล้านล้านบาท

 

สำหรับแผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 1.465 ล้านล้านบาท  โดยเป็นการกู้ของรัฐบาลโดยตรง 1.346 ล้านล้านบาท  รัฐวิสาหกิจ 1.174 แสนล้านบาทและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.ภายใต้กรอบ แผนฯ 1,808.04 ล้านบาท

 

นอกจากนั้นในแผนการก่อหนี้ใหม่ 1.465 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งเป็น กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 6.23 แสนล้านบาท กู้ตามพ.ร.ก. เราไม่ทิ้งกัน 2020 วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท กู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง 9.9 หมื่นล้านบาท กู้เพื่อลงทุนในโครงการ 1.336 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรัฐบาล  74,170.52 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 59,486.28  และกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ 59,781.81 ล้านบาท โดยเป็นของรััฐวิสาหกิจ 57,973.77 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องขออนุมัติ ครม. ภายใต้กรอบแผนฯ 1,808.04 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สบน.ถกรัฐวิสาหกิจเร่งอัดฉีดงบลงทุน

ครม. ไฟเขียวงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 1.5 ล้านล้าน

สคร. เตรียมความพร้อมงบลงทุนปี 2564

ปตท.หั่นงบลงทุนปี 63 เหลือ 5.39 หมื่นล้านบาท

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,624 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563