รับมือพายุโมลาเบ กรมชลฯยืนยัน"เขื่อนลำตะคอง"รับน้ำได้อีก

29 ต.ค. 2563 | 09:34 น.

กรมชลประทาน เผยแผนรับมือพายุโมลาเบ ยืนยัน"เขื่อนลำตะคอง"แข็งแรง รับน้ำได้อีกและไม่กระทบด้านท้ายเขื่อน

ภายหลัง"พายุโมลาเบ” เคลื่อนเข้าไทยวานนี้(28 ต.ค. 63)กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา -เขื่อนลำตะคองอย่างใกล้ชิด  พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สมดุล ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงเขื่อน และพื้นที่ท้ายเขื่อน

 

วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทาน เพื่อรับมือจากผลกระทบของพายุ “โมลาเบ” ที่อาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำตะคองเพิ่มมากขึ้นอีกรอบว่า 


ปัจจุบัน(29 ต.ค. 63)เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 347 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำไหลลงอ่างฯประมาณ 1.99 ล้าน ลบ.ม. เปิดการระบายน้ำออกจากเขื่อนประมาณ 2.37  ล้าน ลบ.ม./วัน 

รับมือพายุโมลาเบ กรมชลฯยืนยัน"เขื่อนลำตะคอง"รับน้ำได้อีก

โดยสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำลำตะคองสายหลัก ตั้งแต่อาคารแบ่งน้ำละลมหม้อไปจนถึงประตูระบายน้ำข่อยงาม มีแนวโน้มลดลง ส่วนในลำบริบูรณ์ ปริมาณน้ำบางส่วนที่ผันลงลำเชียงไกรผ่านบึงพุดซา  มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณชุมชนบ้านลำเชียงไกร แนวโน้มน้ำเริ่มลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลไปแล้วก่อนหน้านี้ การระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง จึงไม่ส่งผลต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯแต่อย่างใด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเดต เส้นทาง"พายุโมลาเบ" 29-30 ต.ค.63

"พยากรณ์อากาศ" 29-30 ต.ค. ไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

กรมอุตุฯ เตือนฉบับ 10 "พายุโมลาเบ” อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน

เตือนภัยพายุลูกใหม่ "โคนี"จ่อถล่มฟิลิปปินส์

อิทธิพล "พายุโมลาเบ" เตรียมเฝ้าระวังพื้นที่ดินถล่ม -น้ำป่าไหลหลาก

สำหรับพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังเดิม กรมชลประทาน ได้เข้าไปให้การช่วยเหลือด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำบริบูรณ์ บริเวณประตูระบายน้ำจอหอ 6 เครื่อง  และในลำตะคองบริเวณประตูระบายน้ำข่อยงามอีก 3 เครื่อง รวมทั้งนำรถแบคโฮ 5 คัน เข้าไปดำเนินการขุดลอกคลองบริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์เตี้ย อ.เมืองนครราชสีมา 


รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณใต้ทางรถไฟท้ายประตูระบายน้ำจอหอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำบริบูรณ์อย่างต่อเนื่อง 


นอกจากนี้ สำนักเครื่องจักรกล ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 50 เครื่อง พร้อมเดินเครื่องเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลตอนล่าง บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้การระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทำได้ดียิ่งขึ้น  

 

รับมือพายุโมลาเบ กรมชลฯยืนยัน"เขื่อนลำตะคอง"รับน้ำได้อีก
 

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ได้ทำการตรวจสอบความมั่นคงแข็งของเขื่อนลำตะคองและเขื่อนทุกแห่งของกรมชลประทานอยู่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพื่อประเมินสภาพของเขื่อนในด้านต่างๆ ให้มีมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเก็บกักไว้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับหล่อเลี้ยงพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมา ถึงนี้ 


"ขอให้ประชาชนและทุกภาคส่วนติดตามรับฟ้งข่าวสารจากทางราชการ หรือโทร.สอบถามข้อมูลต่างๆได้ที่สายด่วน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา"