พิษโควิดทำรายได้สรรพากรลดวูบ 120,000 ล้านบาท

22 ต.ค. 2563 | 06:15 น.

"สรรพากร" รับ รายได้ปี 64 หายกว่า 120,000 ล้านบาท จากมาตรการช่วยโควิด-19 แต่ยังคงเป้าเดิม 2.085 ล้านล้านบาท ตามคำสั่ง "อาคม" 

22 ตุลาคม 2563 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังเปิดงานนวัตกรรมการให้ความรู้ทางภาษีในรูปแบบดิจิทัล ที่กรมสรรพากร จัดร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) ว่า การจัดเก็บรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กรมสามารถจัดเก็บได้ 1.833 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ปรับลดลงหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ตั้งไว้ที่ 1.82 ล้านล้านบาท แต่ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 2.116 ล้านล้านบาท 

 

ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 กรมยังคงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.085 ล้านล้านบาท ไว้ตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ยอมรับว่า รายได้ของกรมจะหายไปกว่า 100,000 ล้านบาท จากการออกมาตรการลดหย่อนภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1.5% จากเดิม 3%, การเพิ่มสิทธิ์ลดหย่อนสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมที่ปรับปรุงสถานประกอบการ 2.5 เท่า, การลดหย่อนภาษีให้ 3 เท่า สำหรับผู้ประกอบการที่มีจ้างงานต่อเนื่อง และการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการลงทุนเครื่องจักรใหม่ เป็น 2 เท่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

หุ้นไทยปิดภาคเช้าบวก 5.39 จุด

ธนาคารออมสิน ชูเงินฝากดอกเบี้ยสูง 3.52% ต่อปี

หุ้นไทยปิดภาคเช้าลบ 10 จุด

ราคาทองวันนี้ (22 ต.ค.) ลดลง 50 บาท ทองคำแท่งขายออก 28,300 บาท

 

รวมถึงการส่งเสริมการออกผ่านกองทุน SSF และ RMF รวมถึงการออกโครงการช้อปดีมีคืน ที่จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้สูงสุดถึง 19,000 ล้านบาทด้วย

“จริงๆ รายได้ภาษีที่หายไปจะเยอะกว่านี้ แต่คงไม่ถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งยังจะมีมาตรการที่จะออกมาอีก ก็จะมีผลต่อรายได้ภาษีในปี 2563 ต่อเนื่องปี 2564 ที่มีผลต่อการยื่นแบบภาษีในปี 2564 ให้หายไป ซึ่งเราก็คงเป้าเดิมไว้ก่อน แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) จะประเมินตัวเลขอีกครั้งว่าจะทำได้ตามเป้าหรือไม่ แต่ตอนนี้คงไว้เดิมก่อนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้ไว้”นายเอกนิติ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม กรมเชื่อว่า หากร่างพระราชบัญญัติการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศจากผู้รับบริการในประเทศ(e-Service) มีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และจะมีผลใช้ภายใน 6 เดือนหลังจากนั้น ก็จะทำให้กรมมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท สูงกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาใช้บริการดูหนัง ฟังเพลง ซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่วยการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 ให้เป็นไปตามเป้าได้ 

 

“วิธีการจัดเก็บภาษี e-Service นั้น จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากการซื้อสินค้าและใช้บริการจากผู้ประกอบการข้ามชาติโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่มาหารือแล้ว ฉะนั้นจึงไม่น่ามีปัญหา อย่างไรก็ตามกรมจะเปิดเว็บไซต์ให้ผู้ประกอบการมาลงทะเบียน เพื่อชำระภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเท่าเทียมในการประกอบการมากขึ้น”นายเอกนิติ กล่าว