“ดร.ปิติ” แนะ 5 ข้อเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง

17 ต.ค. 2563 | 10:16 น.

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐกิจศาศตร์ แนะ 5 ข้อเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง” โดย ดร.ปิติ ได้โพสต์รายละเอียดมีดังนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะราษฎร ดาวกระจาย 3 สถานีรถไฟฟ้า กทม. อีก 16 จุดในต่างจังหวัด

ธนาคารออมสิน สั่งปิดชั่วคราว 6 สาขาย่อยหนีม็อบราษฏร

ตำรวจลั่นม็อบปิดรถไฟฟ้ามีความผิดร้ายแรง 

ศาลยกคำร้องตำรวจขอฝากขัง 8 ผู้ชุมนุมแยกปทุมวัน

 

1. การชุมนุมที่ไร้แกนนำ... นำไปสู่ความรุนแรง

 

ความรุนแรงในวันที่ 14ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นหลังจากการสลายการชุมนุมไปแล้ว มวลชนเรือนหลายๆ แสน ที่ไม่มีผู้นำถูกล้อมปราบ

 

ความรุนแรงในวันที่ 6ตุลาคม 2519 เกิดขึ้นอย่างเลวร้ายที่สุดในช่วงสายๆ ของวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากแกนนำคนสำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว

 

พฤษภาคม 2535 ความรุนแรงที่สุดเกิดเมื่อ แกนนำคือ พลตรีจำลอง ศรีเมืองถูกจับตัวไปแล้ว

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีผู้ที่มี leadership มากพอที่จะควบคุมผู้ชุมนุม นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง

 

2. ความรุนแรงแบบบ้าคลั่ง เกิดขึ้นจากการกดทับ และการยั่วยุ

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 คนไทยถูกริดรอนเสรีภาพภายใต้ระบอบเผด็จการทหารยาวนานกว่า 15 ปี ดังนั้นหลายๆ ปัญหาถูกกดทับไว้ยาวนาน จึงปะทุและระเบิดออกในรูปของ การเดินขบวน การประท้วง การนัดหยุดงาน และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ระหว่างปี 2516-2519 และแน่นอน ความลำบาก ความไม่สะดวก ความขัดแย้งนี้ เมื่อมีผู้สุมไฟแห่งความเกลียดชัง ในคราวนั้นคือ วิทยุและ น.ส.พ. บางฉบับ รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มหัวรุนแรงขึ้นมา ความเคียดแค้นขิงชัง ถึงขนาดที่ประชาชนเข้ารุมฆ่าฟัน สังหารหมู่ ทำร้าย ทำลายชีวิตและศพ จึงสามารถเกิดขึ้นกลางกรุงได้

เมษา-พฤษภา 2553 ก็เช่นกัน การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. (เสื้อแดง) ก็มีกลุ่ม hard core ที่ใช้ความรุนแรง ก่อความไม่สงบ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป และรุนแรงเป็นพิเศษกับมวลชนฝ่ายตรงข้ามคือพันธมิตรประชาชนเมื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) ในที่สุด เมื่อเข้าทางฝ่ายที่กุมอาวุธ การล้อมปราบเสื้อแดงที่รุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอีกฝ่ายจำนวนมากก็เกิดขึ้น

 

ดังนั้น การยั่วยุ การก่อความรุนแรง แม้คุณจะมีอุดมการณ์ มีเป้าหมายที่ถูกต้อง แต่การกระทำที่เป็นมิจฉาทิฐิ ก็จะกลับกลายเป็นการจุดไฟความเกลียดชังให้กับตัวพวกคุณเอง

 

3. ฝ่ายที่คุมอำนาจ คุมอาวุธ ไม่เคยลังเลที่จะใช้ความรุนแรง

 

ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, พฤษภา 53 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ 7ตุลาคม 2551 ที่มวลชนเสื้อเหลืองชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และไม่ได้มีการยั่วยุ ยังถูกปราบโดยก๊าซน้ำตาหมดอายุ และอาวุธจากฝ่ายรัฐ จนเสียงชีวิต จนขาขาด จนพิการ

 

และล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 16 ตุลา 2563 แม้จะเป็นไปตามขั้นตอน แต่การเว้นระยะระหว่างแต่ละขั้น จากกดดัน ไปสู่การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ก็ดูจะเร่งรัด และรุนแรงจนเกินไป

 

ดังนั้นผู้ชุมนุมต้องจำไว้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะใช้ความรุนแรง ชีวิตของทุกคนมีค่า ไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นวีรชนในกรอบรูป ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ จะเป็นการลดเงื่อนไข ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม

 

4. เสี้ยม

 

ความรุนแรงระดับบ้าคลั่งจะเกิดขึ้น เมื่อมีคนเสี้ยม กรณี 6 ตุลา 19กลุ่มที่เสี้ยม สร้างภาพว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคือ คนทำลายชาติ (ป้ายสีว่าเป็น ญวน เป็นปีศาจคอมมิวนิสต์) ทำลายศาสนา (พระระดับเซเลป ออกมาบอกว่า คอมมิวนิสต์ คือ มาร ฆ่ามารไม่ผิด) และทำลายสถาบัน (กรณีภาพและข่าวบิดเบือนการเล่นละครแขวนคอ)

 

กรณีพฤษภา 35 พลเอก สุจินดา พยายามสร้างวาทกรรมว่า ผู้นำฝ่ายค้านบางคนเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยแบบสภาเปรซิเดียมและกลุ่มที่เคลื่อนไหวนอกสภาก็เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การปกครองแบบนี้ ในขณะที่สร้างวาทกรรมว่า ผู้นำผู้ชุมนุม ต้องการก่อตั้งศาสนาใหม่มาทำลายพระพุทธศาสนาแบบเดิม

 

กรณี พันธมิตร เสื้อเหลือง และ นปช. เสื้อแดง ก็เสี้ยมว่าเป็น ความขัดแย้งระหว่าง ชนชั้น อำมาตย์-ไพร่ และการล้มเจ้า

 

ปัจจุบัน เราเห็นการสร้างความแตกแยกระหว่างคนรุ่นใหม่ กับคนรุ่นเก่า เราเห็นแต่ละฝากฝั่งถูกเสี้ยม ถูกปลุกระดม ภายใน Sphere of Information ของตนเองในโลก On-line ในช่องทีวี ใน FB ใน Twitter ที่แต่ละคนก็อยู่ในวังวนของคนที่คิดไปในแบบเดียวกัน โดยไม่สามารถก้าวข้ามวงล้อมทางข้อมูลข่าวสารออกไปเรียนรู้ความคิดเห็นที่แตกต่าง เราเห็นเซเลปของแต่ละฝ่าย ในรูปแบบของ นักธุรกิจการเมืองนอกสภาบ้าง นักวิชาการบ้าง ผู้ประกาศข่าวบ้าง Micro-Influencer บ้าง YouTuber บ้าง และบางครั้งก็ต่างชาติบ้าง ฯลฯ ที่สร้างชุดความคิดยั่วยุแบบทำซ้ำ สร้างทฤษฎีสมคบคิด และเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าไม่สามารถก้าวออกจากวังวนแห่งข้อมูลแบบนี้ได้ การปลุกระดมจนปะทะกัน โดยเฉพาะการปลุกระดมให้จงเกลียดจงชังของรักของหวงของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเรื่องง่ายมาก

 

ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า คนที่เสี้ยมเหล่านั้น ต่างก็มี Hidden Agenda มีผลประโยชน์ มีความแค้นส่วนตัว มีเงินทุนสนับสนุน มีอะไรอื่นๆ อีกจิปาถะที่ทำให้เขามีแรงจูงใจในการเสี้ยม ในการสร้างความแตกแยก

 

และต้องไม่ลืมด้วยว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนที่เสี้ยม และแกนนำ มักจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบ หลายๆ ครั้งมีติดปลายนวม ได้ผลประโยชน์หลังการเปลี่ยนแปลงอีกต่างหาก แต่คนที่ซวย เสียเลือด เสียเนื้อ เสียชีวิต เสียอนาคต คือ กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกเสี้ยม

5. ข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออก

 

ผมเคยเข้าอบรมหลักสูตร Managing Regional and Global Governance (MRGG 2011) in Asia ซึ่งจัดโดยDeutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) และGerman Development Institute/Deutsches Institut für Entwicklungspolitik (DIE) 1 ในเรื่องที่ได้รับการอบรมคือ การสร้าง Flash-Mob ตอนนี้การชุมนุมที่ไร้แกนนำ และมีแนวโน้มที่จะกระจายตัวในหลายๆ พื้นที่ จะเข้ารูปแบบ Flash-Mob ที่พร้อมที่จะรุกฮือขึ้นได้ทุกเมื่อ

 

Flash-Mob เป็นวิธีการอารยะขัดขืนที่ดีและมีประสิทธิภาพยิ่ง เนื่องจาก ใช้ระยะเวลาสั้น ใช้ต้นทุนที่ต่ำ แต่มี Impact สูง อย่างไรก็ตามการแสดงออกในรูปแบบดาวกระจาย ทำ Flash-Mob พร้อมๆ กันหลายๆ ที่บางครั้งก็มีจุดบอด คือ ไม่มีแกนนำที่ดูแลได้อย่างทั่วถึง และบางครั้งยั่วยุไปสู่ความรุนแรง

 

การชุมนุมประท้วงที่ดี ต้อง ไม่ทำให้ By-Stander หรือ คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต้องเดือนร้อน เพราะแทนที่พวกเขาจะให้การสนับสนุน กลับกลายเป็นการสร้างปฏิปักษ์ต่อผู้ชุมนุม ดังนั้นวันนี้ถ้าจะชุมนุมกันที่สถานี BTS/MRT ต้องอย่าให้ใครเดือดร้อน มิฉะนั้นจะเสียแนวร่วม และกลายเป็นสร้างความโกรธแค้นชิงชังให้กับมวลชนอื่นๆ แทน (อย่าลืมเหตุการณ์หลัง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519) อย่าลืมเหตุการณ์พฤษภา 53 ที่มวลชนจำนวนมากสนับสนุนการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง

 

แกนนำที่มี Leadership และผู้ร่วมชุมนุมที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงสำคัญที่สุด ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้มีผู้ชุมนุมคนใดคนหนึ่งใช้ความรุนแรง อย่าลืมว่าในฮ่องกง ประชาชนสนับสนุนการชุมนุมมาตลอดตั้งแต่ 2014 แต่พอผู้ชุมนุมเริ่มทำลายสาธารณูปโภค เริ่มทำร้ายคนคิดต่าง ประชาชนฮ่องกงกลายเป็นผู้ที่รับไม่ได้ และต่อต้านการชุมนุมเสียเอง ดังนั้นไป Mob ต้องอดกลั้น

 

เมื่อเห็นท่าทางไม่ดี กลับบ้าน ครับ พ่อ-แม่รออยู่ อย่าใช้ความรุนแรงโต้ความรุนแรง วีรชนในกรอบรูปไม่มีประโยชน์นะครับ มีชีวิต มีอนาคตสำคัญกว่า อย่างไร ไปชุมนุมก็ต้องเตรียมพร้อมครับ อย่าลืม 1) ชาร์จแบตมือถือให้เต็มและมี PowerBank ติดตัวไปด้วย 2) หน้ากากกันก๊าซพิษ ที่ปิดทั้งตา จมูก และปาก รวมทั้งมี Filter ที่ดี ซื้อไปตาม HomePro ถ้าไม่มี เอาแว่นตาว่ายน้ำติดไปก่อน 3) น้ำขวด 600 cc (ขวด 7 บาท) คู่กับ น้ำเกลือล้างจมูก ล้างแผล (ขวด 100 cc)  และ 4) ร่มและ/หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ๆ

 

ส่วนฝ่ายการเมือง นาทีนี้ต้องปลดล็อคแล้วครับ ขั้นแรกคือ สนับสนุนการปล่อยแกนนำครับ การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำอันตรายกว่าที่มีแกนนำแน่นอน และถ้ารุนแรงไปกว่านี้ อย่างไรเสียพวกคุณก็แพ้ ปราบปรามผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงได้ อาจจะชนะชั่วคราว แต่ประเทศไทยก็แพ้ ในระยาวยังไงคนรุ่นใหม่ก็ต้องขึ้นมาครับ ไม่มีใครอยู่ค่ำฟ้า

 

ข้อเรียกร้องมี 3 ข้อ รีบๆ หาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงใจเถอะครับ ปลดล๊อคที่ 1 ก่อน อย่างน้อย คนออกไปชุมนุมจะลดลง ส่วนเรื่อง นายกฯ ต้องลาออก ผมว่าลงไปหาผู้ชุมนุม ไปคุยกับเขาดีๆ ไปฟัง (ได้ยิน hear ไม่เท่ากับ ฟัง Listen อย่างตั้งใจ นะครับ) ไปฟังพวกเขา ไปคุยกับพวกเขาแบบเปิดอก อย่าโกรธเกี้ยว ผู้ชุมนุมเองก็ต้องไม่อหังการมมังการ หาทางออกร่วมกันว่า ถ้าจะต้องปฏิรูป จะต้องทำเรื่องใดบ้าง และพวกเขา ผู้ชุมนุม จะมีส่วนอย่างไรบ้าง จากนั้นกลับมาปรับ ครม.เถอะครับ คนไหนที่ประชาชนรับไม่ได้ เอาออกซะ แม้ว่าเขาจะเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา หรืออดีตผู้ใต้บังคับบัญชา นาทีนี้ท่านต้องมี Leadership ต้องรักษาประเทศชาติ รักษาความสันติ และรักษาสถาบัน เอาไว้ก่อนครับ

 

ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันผมคิดว่า ต้องค่อยเป็นค่อยไป ใช้สันติวิธีครับ ชี้แจงกับทุกฝ่ายว่าปัญหาบ้านเมืองมีอีกมากมาย หลากหลายมิติ ใช่ว่าปฏิรูปสถาบันแล้ว ปัญหาเหล่านั้นจะหมดไป เรามาหาทางออกในการแก้ปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คอรัปชั่น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม หนี้ครัวเรือน โครงสร้างการผลิตที่บิดเบี้ยว ภาคการศึกษาที่ผลิตคนไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ ฯลฯ แก้ไข ปฏิรูปเรื่องเหล่านี้ด้วยความจริงจังจริงใจเสียก่อน ถึงจะค่อยทำเรื่องใหญ่ๆ ทีหลัง ภาครัฐอย่าพึ่งต่อต้านการปฏิรูป และฝ่ายผู้ชุมนุมก็ต้องไม่เร่งรัด

 

อย่าลืมว่า อนาคตของประเทศยังไงก็ต้องขึ้นกับเยาวชนในวันนี้ อย่าทำลายพวกเขา อย่าดับฝันพวกเขา อย่าผลักให้พวกเขาเป็นศัตรู อย่าลืมสัจธรรมของชีวิตครับว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ/ผู้บริหารในวันนี้ อีก 10 ปี 20 ปี ก็หมดแรง หมดอำนาจ หมดวาสนา กลายเป็นผู้สูงวัยคนนึง อย่าว่าแต่สั่งคนอื่นๆเลยครับ ผู้สูงวัยบางคนสั่งให้ตัวเองแค่ลุกขึ้นมายืน มาเดิน ยังทำไม่ได้เลย แต่ประเทศยังต้องเดินหน้าต่อไปและคนรุ่นใหม่คืออนาคตของประเทศครับ หาทางออกร่วมกัน โดยสงบ สันติ คือทางออกครับ

 

ด้วยความรักและห่วงใยอนาคตของประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม