"ดร.สามารถ" ชี้ช่องแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุง ยัน ไม่แก้ "คอขวด" อุโมงค์ยักษ์ก็ช่วยไม่ได้

12 ต.ค. 2563 | 02:17 น.

"ดร.สามารถ" ชี้ช่องแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุง เหตุ มี "คอขวด" เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ แนะ เร่งแก้โดยด่วนโดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะ

12 ตุลาคม 2563 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ

 

น้ำท่วม! ถ้าไม่แก้ “คอขวด” อุโมงค์ยักษ์ก็ช่วยไม่ได้

 

แม้ว่าผู้บริหารของ กทม.ออกมาชี้แจงว่า กทม.ได้ทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับพายุที่ถาโถมเข้าสู่ไทยเป็นระลอกๆ แต่ก็ไม่อาจยับยั้งไม่ให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ได้ เป็นเพราะอะไร? และจะต้องแก้อย่างไร? ติดตามได้จากบทความนี้

 

หาก กทม.ได้เตรียมการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ไว้เป็นอย่างดีแล้วตามที่ได้ชี้แจง โดยได้ดำเนินการหลายอย่าง อาทิ พร่องน้ำหรือลดระดับน้ำในคูคลอง ลอกท่อ เก็บขยะและวัชพืชในคูคลอง เตรียมความพร้อมที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และเร่งระบายน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก ไม่ปล่อยให้มีปริมาณน้ำสะสมจนเกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำและคูคลอง เป็นต้น

 

แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมที่มีสภาพเหมือน “แอ่งกระทะ” ซึ่งระบายน้ำได้ยาก ผมประเมินว่า เป็นเพราะมี “คอขวด” ที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เปิด 6 ปัจจัยหลักทำน้ำท่วมกรุง

มาอีกแล้ว พายุใหม่ในทะเลจีนใต้ 

เช็กเส้นทางพายุ 3 ลูกถล่มไทย 11-20 ต.ค.

อุตุฯประกาศ ฉ.1 รับมือพายุลูกใหม่ 12-14 ต.ค.กระทบไทย

 

“คอขวด” คือ ท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กและคูคลองที่มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรืออุโมงค์ยักษ์ได้อย่างรวดเร็ว

ถึงเวลานี้ เรามีอุโมงค์ยักษ์หรือ “ทางด่วนน้ำ” ใช้งานแล้ว 4 อุโมงค์ และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างรวมทั้งกำลังจะก่อสร้างอีก 5 อุโมงค์ อุโมงค์ยักษ์เหล่านี้มีหน้าที่ลำเลียงน้ำซึ่งรับมาจากท่อระบายน้ำ และคูคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์ทั้ง 4 อุโมงค์ ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทันทีที่น้ำไหลมาถึงปากอุโมงค์ก็จะขนน้ำไปสู่ท้ายอุโมงค์แล้วสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว “ขาออก” จากอุโมงค์ไม่มีปัญหา น้ำสามารถออกจากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว

 

แต่ “ขาเข้า” ที่ปากอุโมงค์มีปัญหา เนื่องจากท่อระบายน้ำ และคูคลองไม่สามารถลำเลียงน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก และคูคลองมีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้มีสภาพเป็น “คอขวด”  ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก น่าเห็นใจยิ่งนัก

 

ด้วยเหตุนี้ กทม.จะต้องเร่งแก้ปัญหา “คอขวด” โดยด่วนโดยเฉพาะในพื้นที่แอ่งกระทะ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังอีกต่อไป การแก้ปัญหา “คอขวด” สามารถทำได้โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากท่อเดิมที่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม.เท่านั้น ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่งผมทราบว่า กทม.ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

 

ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะขจัด “คอขวด” ได้ ทำให้การลำเลียงน้ำไปสู่คูคลอง และอุโมงค์ยักษ์เพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป หรือลำเลียงน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีอุปสรรค แม้ว่าการวางท่อใหม่จะใช้งบประมาณมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรเทาปัญหารถติด ลดมลพิษ และลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ ผมอยากให้ กทม.ศึกษาความเป็นได้ในการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดินขนาดใหญ่” อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการเก็บกักน้ำในขณะฝนตกก่อนปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อฝนหยุดตก ทำให้สามารถป้องกันน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ผมทราบว่าเวลานี้ กทม.ได้สร้าง “แก้มลิงใต้ดินขนาดเล็ก” หรือที่ กทม.เรียกว่า “บ่อหน่วงน้ำ” เสร็จสมบูรณ์แล้ว 2 บ่อ ซึ่งยังไม่เพียงพอ ดังนั้น กทม.ควรศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดินขนาดใหญ่” กับ “บ่อหน่วงน้ำ” ว่าการลงทุนใดได้ผลคุ้มค่ากว่ากัน

 

การแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ยังมีหนทางถ้าทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ทิ้งขยะลงในที่สาธารณะ เช่นถนน และคูคลอง เป็นต้น เป็นการไม่สร้างภาระหนักให้ กทม. ในขณะที่ กทม.จะต้องทำหน้าที่แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ให้บกพร่อง หากทำได้อย่างนี้ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถแก้วิกฤตน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน ไม่จำเป็นจะต้องย้ายเมืองหลวงเพียงเพื่อหนีน้ำท่วม แล้วไปสร้าง “เมืองหลวงใหม่” ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล

 

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ กทม.ที่เกี่ยวข้องทุกท่านให้สามารถฝ่าฟันงานหินชิ้นนี้ไปได้ด้วยดี