“สุพัฒนพงษ์” ชี้ชัดไม่ใช้ควิกวินนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน

02 ต.ค. 2563 | 12:30 น.

“สุพัฒน์พงษ์” เผยเงื่อนไขโรงไฟฟ้าชุมชนต้องตอบโจทย์การสร้างงาน ชี้ต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมพืชพลังงานที่ปลูกใหม่เป็นเชื้อเพลิง ระบุเปิดรับไฟ 100-150 เมกกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ความคืบหน้าเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น  อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดที่จะต้องตอบโจทย์ให้ประโยชน์กับเกษตรกร  โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานใหม่เพื่อเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนตุลาคมนี้  และเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการนำร่อง 100-150 เมกกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้
              ทั้งนี้ การนำร่อง 100-150 เมกกะวัตต์ดังกล่าว  จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ และมีการปลูกพืชพลังงานใหม่เกิดขึ้นเช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น  ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตอบโจทย์การสร้างงานหรือสร้างอาชีพเพิ่ม และต้องไปดูว่าพื้นที่ปลูกมีได้มากน้อยเพียงใดเพราะต้องใช้พื้นที่มากเกษตรกรจะต้องรวมตัวกัน เหล่านี้ถ้าไปถึงมือคนเป็นเจ้าของที่ดินอย่างเดียว  โดยเกษตรกรไม่ได้อะไรก็คงไม่ตอบโจทย์  ซึ่งจะไม่ใช้แผนโครงการควิกวิน (ระยะเร่งด่วน) ตามโครงการเดิม 

“สุพัฒนพงษ์” ชี้ชัดไม่ใช้ควิกวินนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน

อย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ได้ปิดกั้นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีความพร้อมหากแต่จะต้องปรับให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่เช่นเดียวกันกับบริษัท จำกัด(มหาชน) หากจะดำเนินการร่วมกับชุมชนก็ไม่ได้ปิดกั้นเช่นกันแต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์
 

นายประเสริฐ สินสุชประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขและเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้ร่างไว้แล้วว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่อย่างไรก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)และกพช.ต่อไป

"เงื่อนไขร่างไว้แล้วแต่จะต้องหารือกับทุกส่วนก่อน  โดยเบื้องต้นเชื้อเพลิงจะต้องปลูกไม้โตเร็ว และก๊าซชีวภาพที่มาจากพืชพลังงานเท่านั้น ส่วนของเดิมที่ให้ผสมผสานกับพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ได้นั้นก็คงจะต้องตัดไป ในส่วนของเกษตรกรที่จะให้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์นั้นก็อาจจะเปลี่ยนไปรับซื้อราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรแทนแต่ค่าไฟจะเพิ่มหรือไม่คงจะต้องไปดูเทคโนโลยีด้วย เป็นต้น"

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่จะใช้เวลาก่อสร้างรวม 1 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่พืชที่ปลูกใหม่ประมาณ 500-1,000 ไร่ หากปลูกหญ้าเนเปียร์ใช้เวลา 6 เดือน ก็พร้อมจะส่งเข้าสู่โรงไฟฟ้า หากโรงไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ ก็จะใช้พื้นที่ 50,000-100,000 ไร่