“เทรน” หันเจาะลูกค้าองค์กร รับตลาดแอร์ฟื้น        

02 ต.ค. 2563 | 03:53 น.

โควิด-19 กระทบตลาดแอร์ชะลอตัว “เทรน” ปรับแผนส่งนวัตกรรมเจาะลูกค้าโครงการ พร้อมเสริมแกร่งเทคโนโลยีโซลูชันใหม่รุกตลาดหวังฟื้นยอดขายครึ่งปีหลัง

นายพัลลภ เตชะสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศเทรน เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อมาต่อยอดสู่เครื่องปรับอากาศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทต้องมีการปรับแผนการดำเนินงานและยอดขาย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

“การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนมีความวิตกกังวลการท่องเที่ยวค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโรงแรมและการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีสัดส่วน 18% ของจีดีพีในปี 2562 ซึ่งจากการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 66%

 

เนื่องด้วยข้อจำกัดในการเดินทาง และยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง และเข้มงวดในการเข้าพักที่โรงแรมมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกันกลุ่มดังกล่าวก็ต้องการเทคโนโลยีระบบฟอกอากาศในเครื่องปรับอากาศ ทำให้บริษัทมาเน้นการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อสร้างโอกาสทางการขายมากขึ้น”

พัลลภ เตชะสุวรรณ์

ล่าสุดจึงได้มีการนำเทคโนโลยีPCO (Photocatalytic Oxidation) และUVGI (Ultraviolet Germicidal Irradiation)เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าโครงการ โดยมีลูกค้ากลุ่มโครงการเลือกติดตั้งแอร์กับบริษัทเพราะมองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวได้สอดรับกับเทรนด์สุขภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จะเป็นการขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายไปยังลูกค้าโครงการของบริษัทที่มีอยู่กว่า1,000 รายก่อน โดยวางเป้าหมายขยายให้ครบ 50 รายในช่วงไตรมาส 4 และเพิ่มเป็น 200 รายในสิ้นปี

 

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทมีการเดินหน้าพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งที่เป็น New Normal และ Now Normal แล้ว บริษัทยังมีแผนในการลงทุนขยายโรงงานที่ไทย จากเดิมที่เป็นการรับชิ้นส่วนมาประกอบและผลิตเองในบางรายการ (เครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก) สู่การเป็นโรงงานผลิตที่เป็นฐานส่งออกในภูมิภาคอาเซียน เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแผนงานโดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า”

 

อย่างไรก็ตามจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว บวกกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทำให้บริษัทได้มีการปรับเป้ารายได้ใหม่ลงมาเหลือราว 3,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่เกือบ 4,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ (BtoB) อยู่ที่ 50% ลูกค้าที่เป็นธุรกิจโรงแรมประมาณ 50% โรงงานอุตสาหกรรม 20-30% โรงพยาบาลและโรงเรียนอีก 20% และเครื่องปรับอากาศสำหรับผู้ใช้ทั่วไป (BtoC) 50% 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,614 วันที่ 1 - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ซัยโจ เด็นกิ’ ปรับแผน รับตลาดแอร์ฟื้น 

แอร์ 3 หมื่นล. ฝ่ามรสุมโควิด-19  ฉีดโปรแรง 0% นาน 18 เดือน