ยื่นฟ้องศาล เบรกห้ามขาย นํ้าเมาออนไลน์

28 ก.ย. 2563 | 08:20 น.

ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนประกาศห้ามขายแอลกอฮอล์ออนไลน์ เหตุกระทบหนักธุรกิจมูลค่า 3,000-4,000 ล้านบาท

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากชมรมผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟท์เบียร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีออกประกาศเรื่อง “ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” มองว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดแอลกอฮอล์ในช่องทางออนไลน์ทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย สุรา วิสกี้ ไวน์ และคราฟท์เบียร์ ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 3,000-4,000 ล้านบาทเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มักเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก ที่นำเข้าจำนวนไม่มากและมีต้นทุนสูง ดังนั้นการจะให้ไปวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรดหรือคอนวีเนียนสโตร์ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบมากยิ่งขึ้น

 

ดังนั้นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการทั่วไป ผู้ประกอบการออนไลน์ รวมถึงบุคคลทั่วไป จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งประกาศดังกล่าวทั้งแบบรายบุคคลและรวมกลุ่ม เพื่อให้สามารถยู่รอดได้ ทั้งนี้มองว่ากฎหมายห้ามขายแอลกอฮอล์ออนไลน์มีทางออกในตัวอยู่แล้ว เพราะเมืองไทยมีกฎหมายมากมายที่กำกับและควบคุมในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว

 

“การห้ามขายออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการไวน์ท้องถิ่น จากชุมชนต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะเน้นวางจำหน่ายในช่องทางหน้าร้านชุมชน โอท็อป และออนไลน์ แต่จากวิกฤติที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการเหลือช่องทางการจำหน่ายเพียงออนไลน์อย่างเดียว แน่นอนว่าการห้ามในครั้งนี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งต่อเศรษฐกิจซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ขณะเดียวกันยังขัดต่อนโยบายในการผลักดันเรื่องของไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนด้วย”

 

ทั้งนี้ธุรกิจคราฟท์เบียร์ส่วนใหญ่เน้นเจาะตลาดระดับกลาง-บน โดย 60-70% วางจำหน่ายในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ขณะที่ 30-40% เป็นการวางจำหน่ายในช่องทางออน พรีมิส หรือร้านอาหาร ผับ บาร์ ฯลฯ ซึ่งการห้ามขายดังกล่าวมองว่าเป็นการตัดช่องทางการจำหน่ายของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก หลังจากต้องปิดการจำหน่ายในช่องทางผับ บาร์ หน้าร้านต่างๆ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการทุบซํ้าอุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีอุปสรรคในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายในประเทศแล้ว ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งหลักอย่างกลุ่มผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ในเวียดนามที่ภาครัฐมีการผลักดันอย่างจริงจัง

 

อย่างไรก็ตามผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแต่ในส่วนของเครื่องดื่ม ผู้ขาย หน้าร้านเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบหากแต่มองว่าหมายถึงซัพพลายเชนทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ การจ้างงานที่จะเกิดขึ้น ต้นทางวัตถุดิบ การพัฒนาเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องในการส่งออก ขณะเดียวกันก็กระทบต่อความเชื่อถือของกลุ่มทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮล์ออนไลน์ในไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนชาวต่างชาติจำนวนมากที่สนใจแต่จากประกาศดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างชาติ 100% ยกเลิกการลงทุนไป

 

ขณะที่นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า การห้ามขายแอลกอฮอล์บนช่องทางออนไลน์ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ มองว่าการออกประกาศดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งหากต้องการควบคุมการเข้าถึงจริง ภาครัฐสามารถควบคุมการขายบนช่องทางออนไลน์ได้ ด้วยการกำหนดเวลา อายุ และมีระบบคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งที่ผ่านมาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่องทางออนไลน์ก็มีการตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อเบื้องต้นก่อนการซื้อขายอยู่แล้ว

ธนากร คุปตจิตต์

“ประกาศดังกล่าวยังเป็นเพียงกฏกหมายลูกเท่านั้น ดังนั้นหลังจากที่มีการล่ารายชื่อถอดถอนและการฟ้องร้องของผู้ประกอบการ ซึ่งหากภาครัฐอยากทบทวนหรือแก้ไขก็สามารถดึงกลับไปได้ทันทีก่อนที่จะมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.นี้ จึงอยากให้ภาครัฐมีการทบทวนใหม่อีกครั้งในการร่วมกันหาทางออก เพื่อป้องกันปัญหาความยุ่งยากที่อาจจะเกิดตามในอนาคต”  

 

หน้า 01 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,613 วันที่ 27 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

TABBA ติงห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์เกาไม่ถูกที่คัน

เอกชน-สมาคม วอนรัฐทบทวน  ห้ามขายแอลกอฮอล์ออนไลน์