ส่อตีตก 4 ญัตติฝ่ายค้าน จับตา‘รัฐสภา’โหวตคว่ำร่างแก้รธน.

24 ก.ย. 2563 | 06:10 น.

ส่อตีตก 4 ญัตติฝ่ายค้าน จับตา‘รัฐสภา’โหวตคว่ำร่างแก้รธน. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,612 หน้า 12 วันที่ 24 - 26 กันยายน 2563

 

ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายนนี้ จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีญัตติเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ 6 ญัตติ 

 

คณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ วุฒิสภา ได้ประชุมร่วมกัน โดย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า การพิจารณาแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดยวันแรกจะจบที่เวลา 01.30 น. ส่วนวันที่ 2 จะอภิปรายให้เสร็จภายในเวลา 18.00 น. 

 

ทั้งนี้วิธีพิจารณาจะพิจารณารวมกันทั้ง 6 ญัตติ ซึ่งทั้ง 3 ฝ่าย ได้เวลาในการอภิปรายเท่ากันคือ ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาที แล้วดำเนินการลงมติคราวเดียวโดยวิธีการขานชื่อแล้วให้สมาชิกรัฐสภาลงมติด้วยวาจา ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติใดบ้าง ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการสัดส่วนคนนอก ก็แล้วแต่โควต้าของแต่ละฝ่าย ว่าจะให้คนนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการจำนวนเท่าใด แต่เบื้องต้นยังไม่มีการคุย ท่าทีหรือชักชวนเกี่ยวกับการลงมติ 

 

ส่วนญัตติทั้ง 6 ฉบับ จะผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการทั้งหมดหรือไม่ นายสุทิน ระบุว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่หากญัตติใดไม่ผ่านก็จะยื่นอีกในสมัยประชุมหน้า ดังนั้น ต้องพยายามทำให้สำเร็จ

 

ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า หลังจากอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ จบในเวลา 18.00 น. ของวันที่  24 กันยายนแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติที่ใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล โดยแต่ละคนจะกล่าวในครั้งเดียวว่าจะลงมติรับหรือไม่รับทั้ง 6 ญัตติ 

 

คาดว่าจะใช้เวลาลงมตินาน 3-4 ชั่วโมง หลังลงมติแล้วถ้ารับ หลักการในวาระแรก ก็จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 2 จำนวน 45 คน ได้แก่ ส.ว. 15 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคประชาธิปัตย์  3 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรค ประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ อย่างละ 1 คน

 

 

 

เปิด 6 ญัตติแก้รธน.

 

สำหรับ 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เข้าสู่วาระการพิจารณาในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ ประกอบด้วย 

 

1. ร่างของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ขอแก้มาตรา 256 ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หัวใจสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเสนอก็คือ ปิดทางไม่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ และขอรื้อระบบการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ คือเลือกทั้งส.ส.เขต และเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) 

 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุถึงความต้องการของพรรคเพื่อไทย คือ แก้ไขเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือการยกเลิก ส.ว. ตามมาตรา 269 การยกเลิกหน้าที่ และอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270

 

2. ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอแก้มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับญัตติของพรรคเพื่อไทย

 

 

ส่อตีตก  4 ญัตติฝ่ายค้าน จับตา‘รัฐสภา’โหวตคว่ำร่างแก้รธน.

 

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า วิป รัฐบาลได้เสนอให้เพิ่มในหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามสัดส่วนจังหวัด 150 คน และมาจากการเลือกทางอ้อม  50 คน แบ่งเป็น ส.ส.ร.ที่รัฐสภาคัดเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีฯ เลือก 10 คน จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และด้านรัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ และอีก 10 คนจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกนิสิต นักศึกษา จำนวน 10 คน

 

ขณะที่ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่มีการประชุม ส.ส.ร.นัดแรก 

ขณะที่ญัตติที่ 3-6 เป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. แก้มาตรา 272 และ 159 ไม่ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ 2. แก้มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 3. แก้มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 4. แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เผยว่า ระบบเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยการเลือกส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะใช้รูปแบบเขตเดียว เบอร์เดียว

สำหรับการคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้ระบบการกัน 5% หมาย ความว่าพรรคการเมืองใดที่จะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อได้นั้น จะต้องมีจำนวนคะแนนเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5% จากจำนวนคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด

“คิดว่าการมีระบบการกัน 5% เอาไว้นั้น จะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหญ่ หรือทำลายพรรคการเมืองเล็ก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540” นพ.ชลน่าน ระบุ

 

 

 

ส่อตีตก 4 ญัตติฝ่ายค้าน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ มีแนวโน้มสูงที่ 4 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะถูก “ตีตก” เพราะส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย 

 

ส่วนญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอตั้ง ส.ส.ร.เหมือนกัน ต้องลุ้นว่าจะฝ่ายเฉพาะของฝ่ายรัฐบาล หรือเห็นชอบกับร่างของพรรคเพื่อไทยด้วย 

 

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า ยากสำหรับการให้ความเห็นชอบญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้บรรจุอยู่ในวาระการประชุม 6 ญัตติ เนื่องจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 84 เสียง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะ ต้องชี้ให้เห็นถึงเหตุผลเพื่อให้ ส.ว. เห็นด้วย 

 

“แนวโน้มมีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นชอบ” ประธานวิปรัฐบาล ระบุ และคาดหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วยกับญัตติของรัฐบาล 

 

ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อเร่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นนั้น นายวิรัช กล่าวว่า ต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีการเร่งรัด เพื่อให้สภาได้หยุดพักในช่วงปิดสมัยประชุมบ้าง หลังทำหน้าที่มาตลอด 4 เดือน จากนั้นวันที่ 1 พฤศจิกายน ก็เปิดประชุมสมัยสามัญปกติแล้ว 

 

“ไม่รู้สึกกังวลต่อการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่จะมาชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันนี้ 24 กันยายน” นายวิรัช ระบุ