ศาลสั่งคุก 1 เดือน“นาที รัชกิจประการ”ยื่นทรัพย์สินเท็จ-รอลงอาญา

27 ส.ค. 2563 | 10:42 น.

ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 4 พันบาท “นาที รัชกิจประการ” ยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี หลุดเก้าอี้ส.ส.

 

วันนี้(27 ส.ค.63) ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 5/2562 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย 2 สมัย ผู้ถูกกล่าวหา เรื่องการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

 

กรณีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีเข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่งและลงโทษจำคุก1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสองและมาตรา 119 นั้น

 

ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

 

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีคำขอท้ายคำร้องขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 และมาตรา 167 แม้ขณะยื่นคำร้องมีการยกเลิกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด แต่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ยังกำหนดให้การจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม

 

จึงเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดกรณีจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดมาบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคหนึ่งอันเป็นการปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง

สำหรับมาตรการบังคับทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เป็นมาตรการบังคับทางการเมืองที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหายิ่งกว่ามาตรการบังคับทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดศาลย่อมมีอำนาจกำหนดมาตรการบังคับทางเมืองผู้ถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง

 

เมื่อผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2557 โดยเป็นการยื่นตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 อันเป็นเวลาหลังจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับแล้วผู้ร้องจึงมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาและยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ได้

 

ทั้งนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ ที่ดิน 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังมูลค่ารวม 2,000,000 บาท และหนี้สินของคู่สมรส 4 รายการรวม 93,039,949 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนวนมากที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ไม่ทราบถึงการทำธุรกรรมของคู่สมรสและเป็นความผิดพลาดของเลขานุการนั้น

 

แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ตระหนักถึงหน้าที่ที่ตนซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้กลไกการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่เกิดประสิทธิผลต่อการตรวจสอบ ข้อแก้ตัวตามอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้อที่ง่ายต่อการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิดจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงโทษจำคุกและปรับผู้ถูกกล่าวหา โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี เหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ทั้งนี้ กรณีเข้ารับตำแหน่งขาดอายุความทางอาญาแล้ว จึงไม่อาจนำมาตรการจำกัดสิทธิทางการเมืองมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ จึงแก้ไขให้ถูกต้อง

 

พิพากษาแก้เป็นว่า นางนาที รัชกิจประการ ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบเฉพาะกรณีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32,33,34 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้ นางนาที หลุดจากเก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

โดย นางนาที ครอบครัวเป็นเจ้าของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเครือพีที ซึ่งนางนาที เคยได้รับเลือกเป็นประธานสภาพัฒนาสตรีจังหวัดพัทลุง และประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดพัทลุง เอฟซี

 

ด้านการทำงานทางการเมืองนั้น นางนาที เคยเป็น ส.ว.จังหวัดพัทลุง ในการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2549 แล้วต่อมาได้เข้าร่วมงานการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน เคยได้รับมอบหมายหน้าที่เลขานุการประธานรัฐสภา ยุคนายชัย ชิดชอบ ปี 2551-2554 ด้วย โดย นางนาที ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทยครั้งแรก ปี 2554

 

สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ครั้งแรกต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อสมัยแรก วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นั้น นางนาที แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 90,109,472.45 บาท โดยนายพิพัฒน์ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 214,379,539.25 บาท รวมทรัพย์สิน 304,489,011.70 บาท และมีหนี้สิน จำนวน 2,310,028.19 บาท

 

"สุชาติ โชคชัยวัฒนากร"เสียบส.ส.แทน

 

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีนางนาที ต้องพ้นจากการเป็นส.ส. ว่า สำหรับผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลำดับถัดไปคือ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ แต่ได้ยื่นขอสละสิทธิ์ ทำให้ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับต่อไป คือ นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร จะเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอศาลฎีกาฯ ส่งรายละเอียดคำพิพากษามาที่สภาผู้แทนราษฎรก่อน จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะดำเนินการประกาศตามขั้นตอนต่อไป โดยพรรคภูมิใจไทย ยังมีส.ส.เท่าเดิมคือ 61 คน