เปิดที่มา“200 ส.ส.ร.”ดึง"นร.-นศ."ร่วมร่างรธน.ใหม่ 10 คน

27 ส.ค. 2563 | 06:40 น.

“ชินวรณ์”เปิดองค์ประกอบ “200 ส.ส.ร.”ยกร่างรธน. มาจากเลือกตั้งโดยตรง 150 คน จากส.ส.เลือก 10 คน ส.ว.เลือก10 คน และจากที่ประชุมอธิการบดี เลือกผู้เชี่ยวชาญด้านก.ม.มหาชน รัฐศาสตร์ บริหารราชการแผ่นดิน 20 คน จากนร.-นศ. 10 คน

 

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมีมติ จะเสนอในนามของพรรคร่วมรัฐบาลเพียงร่างเดียว โดยยึดหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

 

 

สำหรับองค์ประกอบของส.ส.ร.มีข้อยุติชัดเจนว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน และมาจากการเลือกของส.ส.10 คน จากการเลือกของส.ว.10 คน และมาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ และประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน 20 คน รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา มีส่วนร่วมจำนวน 10 คน โดยกระบวนการในการดำเนินการเลือกกันเอง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้ดำเนินการกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ 

 

 

ส่วนกระบวนการที่จะให้มีการดำเนินการ เมื่อมีการจัดตั้งส.ส.ร.แล้ว ให้มีการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน และหลังจากนั้นเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ต่อไป แต่ถ้าหากว่ารัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ก็จะต้องทำประชามติ

 

ทั้งหมดนี้คือหลักการของร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน แต่แตกต่างกันในรายละเอียดที่เพิ่มองค์ประกอบของส.ส.ร.เข้ามา 

 

เมื่อถามว่าหากรัฐสภาเห็นชอบแล้วจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า จะทำประชามติเฉพาะที่รัฐสภาไม่เห็นชอบเท่านั้น ซึ่งคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อรัฐสภาเห็นชอบก็จะประกาศใช้เป็นกฎหมายแต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบก็จะต้องทำประชามติ

 

“ส่วนตัวคิดว่าแนวความคิดของพรรคร่วมรัฐบาล ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญร่วมกัน คือต้องการกฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ไขได้จริง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นประเด็นที่กำลังมีการถกเถียงกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของบทเฉพาะกาล หรือ อำนาจของส.ว.ก็เป็นเรื่องที่ทางส.ส.ร. จะไปดำเนินการพิจารณาแก้ไขต่อไป”

 

เมื่อถามว่าการให้ความเห็นชอบเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ไปถึงขั้นตอนการทำประชามติ ได้มีการพูดคุยกับส.ว.หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า มีอยู่ 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก เป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อจัดตั้งส.ส.ร. ประเด็นนี้ต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะใช้องค์ประกอบในการลงประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และต้องดำเนินการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) เข้าใจว่าที่ประชุมร่วม 3 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า น่าจะได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ จึงกำหนดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังรายงานของกรรมาธิการชุดดังกล่าวในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ทั้งนี้จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 ก.ย.

 

เมื่อถามอีกว่ามาตรา 272 ทางพรรคประชาธิปัตย์จะยื่นเองหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลมีมติให้เสนอเพียงร่างเดียว เพราะหากเสนอหลายร่างอาจจะมีปัญหาว่าผู้เสนอญัตติจะสามารถไปเซ็นซ้ำซ้อนหลายฉบับได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ถ้าหากเป็นส.ส.ต้องมีเสียงผู้เสนอ 100 เสียง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาควรเสนอเพียงร่างเดียว