มาร์เก็ตแคป AOT รูด 3 แสนล้าน

22 ส.ค. 2563 | 12:05 น.

นักลงทุนกังขา AOT ออกมาตรการ อุ้มผู้ประกอบการในสนามบิน กดดันราคาหุ้นดิ่ง มาร์เก็ตแคปสูญ 3 แสนล้านบาท โบรกชี้นักลงทุนมองไมโปร่งใส กังวลรายได้หาย

การท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้นับจากเกิดวิกฤติ โควิด-19 ซึ่งกลุ่มที่กระทบหนักคือ การท่องเที่ยว และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ที่มีทั้งผู้โดยสารที่ลดลง และประเด็นการลดค่าเช่าที่ในสนามบิน เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ และข้อกังขาในการแก้ไขสัญญากับดิวตี้ฟรีที่สูญเสียประโยชน์ในมูลค่าที่สูงอีกด้วย

 

ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างหนัก โดยตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ปรับลดลงถึง 34.88% มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 699,999.30 ล้านบาท ลดลง 360,713.93 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 1,060,713.23 ล้านบาท 

 

หลัง AOT รายงาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย( ตลท. )ว่า ได้อนุมัติขยายเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่และเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ที่ได้รับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.)และสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทซม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ที่ได้รับสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ทสภ.

 

นอกจากนี้ยังอนุมัติให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่าต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ตามที่บริษัทใช้ยื่นข้อเสนอในปี 2564 โดยหารด้วยจํานวนผู้โดยสาร เพื่อคำนวณหา Sharing Per Head และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวน ผู้โดยสารจริงของทอท.ในปีนั้นๆ เพื่อกำหนดเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่าในปีนั้นๆ ตามสูตรการคิดคำนวณ

มาร์เก็ตแคป AOT รูด 3 แสนล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

AOT แก้สัญญาสัมปทาน ลดจ่าย-ขยายเวลาเก็บเงิน

AOT มีแววตํ่าตม

บล.กสิกรไทย ชี้ ทอท. อุ้ม "คิงเพาเวอร์" สูญ 1.3 แสนล้าน

การปรับสัญญากับ คิง เพาเวอร์ ระยะยาวเปลี่ยนรายได้ขั้นตํ่าคงที่ไปอิงกับจำนวนผู้ใช้บริการจริง ทำให้เห็น Downside ประมาณการระยะกลางลดความน่าสนใจลงด้านการฟื้นตัว และส่งผลให้ผลประกอบการน่าจะตกตํ่าจนกว่าท่องเที่ยวจะดีขึ้น และยังมองข้ามได้ยากตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน

 

AOT ยังขยายเวลาชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการสำหรับงวดซึ่งครบกำหนดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ธันวาคม 2563 และเลื่อนชำระค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก สำหรับงวดที่ครบกำหนดเดือนเมษายน-ธันวาคม 2563 ออกไป 12 เดือนจากวันครบกำหนด

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศ ไทย)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่าในครั้งนี้ของ AOT มีมูลค่าค่อนข้างสูง แต่ไม่สามารถคำนวณได้ว่า จะเสียประโยชน์ประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารที่ยังไม่นิ่ง

 

และยังมองภาพไม่ชัดว่า จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ จึงจะกลับเป็นปกติ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลทั้งเรื่องของผลประโยชน์ที่สูญเสียและรายได้ที่คาดว่า จะมีผลขาดทุนอีกประมาณ 4 ไตรมาส โดยราคาหุ้นที่มีความน่าสนใจจะอยู่ที่ตํ่ากว่า 46 บาท 

“เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะมีข้อกังขาว่า AOT ไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับนักลงทุน เพราะวิธีคำนวณใหม่นั้น ปรับลดลงมาก ซึ่งตามจริง AOT อาจจะมีวิธีแก้ไขด้วยการเปิดให้มีการประมูลใหม่ หากการเจรจากับคู่ค้าไม่ได้ ก็สามารถเรียกคู่ค้าใหม่ที่สนใจและให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ "

 

แต่สังเกตได้ว่าในครั้งนี้ไม่มีการเรียกประมูลใหม่ และใช้วิธีลดให้ก่อนเลย อาจจะเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ประกอบการทั้งหมดที่มีกิจการกับ AOT แต่เป็นการลดความน่าเชื่อถือจากผู้ถือหุ้นอาจจะมองว่าไม่โปร่งใส”

 

อย่างไรก็ตาม มองว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องประชุมผู้ถือหุ้นก่อนออกมาตรการ เพราะตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯถือเป็นการดำเนินงานที่ปกติ ซึ่งการประชุมผู้ถือหุ้นจะทำในกรณีที่มีการซื้อมาหรือขายไปในสินทรัพย์ที่สำคัญและต้องมีมูลค่าที่สูงระดับหนึ่ง

 

ขณะเดียวกันต้องดูถึงระเบียบ ข้อบังคับของ AOT ว่าต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกระทรวงการคลังหรือตาม พ.ร.บ.การลงทุนของเอกชนกับภาครัฐหรือไม่เนื่องจากที่ผ่านมาอย่างกรณีการแก้สัมปทานไอทีวี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติ ยังเป็นโมฆะได้ 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,600 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563