‘อิชิตัน’ กางแผนบุกเฮลตี้  ฟื้นยอดครึ่งปีหลัง ตั้งเป้าทะยาน 50%

08 ส.ค. 2563 | 09:18 น.

“อิชิตัน” เปิดแผนฟื้นยอดหลังโควิด-19 ชูกลยุทธ์ไซซิ่ง พร้อมแตกไลน์สินค้าเพื่อสุขภาพรับเทรนด์เฮลตี้ หลังนมอัดเม็ดและเครื่องดื่มน้ำอัลคาไลน์ยอดขายทะลัก หวังปั้นพอร์ตสินค้าสุขภาพทะยาน 50% ในอนาคต

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายชาพร้อมดื่มดื่มอิชิตัน และเย็น เย็น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มครึ่งปีหลัง ประเมินว่าหากไม่มีการระบาดของโควิด 19 ระลอกสองมั่นใจว่าภาพรวมตลาดจะสามารถฟื้นกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยบวกในเรื่องมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้เข้ามาเป็นตัวหลักในการผลักดันการเติบโต ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่อัดอั้นจากการกักตัวเองในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวกระตุ้นกำลังซื้อและการท่องเที่ยวจากภาคประชาชนในประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีสินค้าบางแคตธิกอรี่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอาจจะยังชะลอตัวอยู่

 

“สินค้าในครึ่งปีหลังแม้มีการเติบโตอยู่ แต่ทว่าในภาพรวมแล้วอาจจะไม่ได้หวือหวามากนัก แต่เชื่อว่ายังมีการเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือเครื่องดื่มที่ผสมวิตามิน,กลุ่มน้ำด่าง ที่ถือว่าเป็นสินค้าดาวรุ่งที่มาแรงทั่วโลกนับจากนี้”

ตัน ภาสกรนที

ขณะที่แผนงานในช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทได้เตรียมโฟกัสการทำตลาดไปยังกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ โดยมีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่เพิ่มอีก 1-2 รายการในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพเร็วๆนี้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวสินค้าเพือสุขภาพไปแล้ว 2 รายการ ได้แก่ ขยายไลน์สินค้า ทั้งนมอัดเม็ด “วันมอร์” และ “PH PLUS 8.5” เครื่องดื่มน้ำอัลคาไลน์ ออกมารับเทรนด์สุขภาพ

 

“แน่นอนว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ตลาดเดิมก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลาดใหม่ๆก็ต้องมองหาเพื่อสร้างการเติบโต แต่สิ่งที่จะปฏิเสธไมได้คือเรื่องของช่องทางออนไลน์ที่ต้องมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขาย และกิจกรรมทางการตลาดรูปแบบต่างๆเพื่อสร้างการเข้าถึงของแบรนด์ ซึ่งสินค้าเพื่อสุขภาพไม่ใช่มีแนวโน้มติบโตที่ดีแค่เพียงในไทยเท่านั้นหากแต่ยังเป็นเทรนด์ทั่วโลก โดยเฉพาะในไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าแผนงานของบริษัทนับจากนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ๆอะไรมากมาย หากแต่เป็นการปรับงบประมาณ พลังงาน และทิศทางธุรกิจไปยังสินค้ากลุ่มนี้มากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้”

พร้อมกันนี้ยังโฟกัสการทำตลาดมายังกลยุทธ์ไซซ์ซิ่งมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกับสภาพเศรษฐกิจและความต้องการในยุคนี้ที่ภาพรวมตลาดมีสินค้า 2 กลุ่มที่มียอดขายเติบโตแบบต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าที่มีบรรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก หรือเครื่องดื่มที่มีราคาอยู่ที่ 10 บาทต่อขวด เนื่องจากฐานลูกค้าหลักที่เป็นกลุ่มแมสของสินค้าดังกล่าวต้องการประหยัดค่าครองชีพ ขณะที่สินค้าในตลาดพรีเมี่ยมก็จะยังคงเดินน้าโฟกัสควบคู่กันไป โดยเฉพาะในกลุ่มชาพรีเมี่ยมนำเข้าอย่าง ชิซึโอกะ ที่มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในกลุ่มน้ำวิตามินต่างๆ มองว่าปีนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 1 เท่าตัว ขณะที่ปี 2564 ประเมินว่าแนวโน้มการเติบโตอาจจะมากกว่า 2-3 เท่า เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มลงมาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพใหม่ๆออกมาทำตลาดมากขึ้น โดยภาพรวมตลาดฟังก์ชันนอลดริ้งในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเครื่องดื่มผสมวิตามินอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท และยังเป็นตลาดที่มีช่องว่างทางการตลาดอยู่สูง ซึ่งจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มสุขภาพ (ผสมวิตามิน) ทำให้มองว่าปีหน้าภาพรวมตลาดอาจจะทะยานแตะหลัก 1 หมื่นล้านบาทได้

“หลายคนเป็นห่วงว่าสินเพื่อสุขภาพจะมีการแข่งขันกันรุนแรงจนกลายเป็นเรดโอเชี่ยนเหมือนดังสินค้าในกลุ่มอื่นๆหรือไม่ ซึ่งหากมองกันตามตรงแล้วสินค้าในกลุ่มนี้ไม่มีการแข่งขันเรื่องราคาและโปรโมชันรุนแรง แต่จะเน้นการแข่งขันในเรื่องการพัฒนานวัตกรรม คุณภาพ ซึ่งมีการเติบโตแบบยั่งยืนมากกว่า”

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทเองแม้ว่าปีนี้ยอดขายจะติดลบบ้างเล็กน้อยแต่ว่ากำไรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการทำตลาดสินค้าขนาดเล็กทำให้การทำการตลาดลดลง อนาคตวางเป้าหมายสินค้าเพื่อสุขภาพ,สินค้ากลุ่มพรีเมียม 50% และกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มอื่นๆ 50% 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563