ลุย"รถไฟไทย-จีน"เฟส2 เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน 4จว.อีสาน

01 ส.ค. 2563 | 05:02 น.

การรถไฟฯ เดินหน้า เปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชน 4 จังหวัดภาคอีสาน ศึกษา รถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา - หนองคาย

 

 

 

 

 

 

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เดินสายจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด  ลุย"รถไฟไทย-จีน"เฟส2 เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน 4จว.อีสาน

นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ตามแนวเส้นทางโครงการ เพื่อเป็นการนำเสนอข้อมูล แผนการดำเนินโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการก่อสร้างโครงการ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก

 

 ลุย"รถไฟไทย-จีน"เฟส2 เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน 4จว.อีสาน

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของงานโยธาในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย มีเส้นทางครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โครงการดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟ จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า จำนวน 1 แห่ง คือ พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่นาทา จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทางอีก 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จังหวัดนครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จังหวัดขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี และสถานีนาทา จังหวัดหนองคาย การออกแบบขนาดรางที่มีความกว้างขนาด 1.435 เมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 241 แห่ง ใช้ระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงหนองคายประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที

 

 ลุย"รถไฟไทย-จีน"เฟส2 เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน 4จว.อีสาน

การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบโครงสร้างสถานี มีแผนการดำเนินงานเป็นรูปแบบผสมผสานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของภาคอีสาน รวมทั้งให้สอดคล้องกับสถานีรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา และสถานีรถไฟทางคู่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการออกแบบตามมาตรฐานระบบรถไฟความเร็วสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ อาจทำให้รายละเอียดของโครงการระยะที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่นำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำไว้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทบทวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปพร้อมทบทวนมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียตามกระบวนการมีส่วนร่วมในครั้งนี้

 

สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด ให้ความสนใจและร่วมแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินโครงการ แต่ยังมีข้อกังวลบางประเด็นที่ต้องการให้โครงการดำเนินการปรับปรุงแก้ เช่น ปัญหาจุดตัดทางรถไฟตามแนวเส้นทางโครงการ การเวนคืนพื้นที่ การออกแบบอัตลักษณ์สถานี และการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกของสถานี โดยให้คำนึงถึงการใช้งานของกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย นอกจากนี้ยังต้องการทราบแนวทางการป้องกันปัญหาผลกระทบด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อาจตามมาขณะดำเนินการก่อสร้างโครงการ เป็นต้น

 

 

 

 

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ทำให้มีความรวดเร็วในการเดินทาง และความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งเกิดการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค นอกจากนั้นเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทย กับ สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในขณะดำเนินการก่อสร้างโครงการยังสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

 

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการฯ ในขั้นตอนต่อไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.hsrkorat-nongkhai.com หรือทางแฟนเพจ โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย “โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย”