สายการบินดิ้น บี้ลดต้นทุนเพิ่ม ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์

03 ส.ค. 2563 | 03:45 น.

ธุรกิจสายการบินไทยแขวนอยู่บนเส้นด้าย ดิ้นสู้เฮือกใหญ่ บี้ลดต้นทุนเพิ่ม ด้าน “วุฒิภูมิ” ยัน จุฬางกูร ไม่ทิ้งนกแอร์ เหมือนนกสกู๊ต แต่เลือกเข้าฟื้นฟูกิจการ เพื่อหยุดหนี้ค่าเช่าเครื่องบิน เพิ่มสภาพคล่องรวมกับเงินกู้ 3 พันล้านที่ยังเหลืออยู่ ทำให้เปิดทำการบินได้ตามปกติ ระหว่างฟื้นฟูกิจการ

ปัจจุบันแม้สายการบินต่างๆของไทยจะเริ่มทยอยกลับมาทำการบินภายในประเทศแล้ว  แต่ธุรกิจการบิน ก็ยังอยู่ในสภาวะยากลำบาก ตราบใดที่ยังเปิดทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศไม่ได้ และการร้องขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนซ็อฟโลน 2.4 หมื่นล้านบาทยังไร้วี่แวว ส่งผลให้สายการบินต่างๆต้องช่วยตัวเอง โดยลดต้นทุนให้ได้มากสุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงการบริหารสภาพคล่องให้พออยู่ให้ได้นานที่สุด แต่หากสายป่านขาด ก็จะเห็นอีกหลายสายการบินที่จะทยอยเลิกกิจการ ไม่ต่างจาก “นกสกู๊ต” ซึ่งเป็นสายการบินแรกของไทยที่ออกมาประกาศเลิกบิน และได้แจ้งจดทะเบียนยกเลิกบริษัทไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563

ขณะที่การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง ของ 2 สายการบินของไทย คือ “นกแอร์” และ “การบินไทย”  เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่เกิดขึ้น แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอยู่ เพราะจะทำให้เกิดการการพักชำระหนี้ (automatic stay) ทันที ทั้งของการบินไทยที่มีหนี้สินอยู่ 3.5 แสนล้านบาท และหนี้สินของนกแอร์ 2.6 หมื่นล้านบาท ให้พอต่อลมหายใจได้ และยังคงทำการบินได้ตามปกติ ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ 

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบิน นกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กลุ่มจุฬางกูร ยังคงยืนยันที่จะสนับสนุนนกแอร์ ให้ยังคงดำเนินธุรกิจการบินต่อไป เพื่อรักษานกแอร์ ที่เป็นสายการบินของไทย ให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป และเรายังมองเห็นอนาคตของนกแอร์อยู่ เพราะหลังจากเกิดโควิด-19 จะเห็นว่าสายการบินคู่แข่งมีการทยอยคืนเครื่องบินออกไปเป็นจำนวนมาก

สายการบินดิ้น  บี้ลดต้นทุนเพิ่ม  ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์

ขณะที่การแข่งขันด้านราคาก็ลดลงอย่างมาก  อีกทั้งนกแอร์ ไม่ได้มีภาระต้นทุนที่สูงมาก เพราะเครื่องบินที่มีอยู่ทั้ง 24 ลำล้วนเป็นเครื่องบินเช่า ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง MAX ที่นกแอร์ มีแผนจะซื้อ 6 ลำ แต่ยังไม่ได้ซื้อ เพราะโบอิ้งหยุดการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ 

 

นอกจากนี้ที่ผ่านมานกแอร์ ได้แก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนอยู่เดิม คือ เรื่องของการดีเลย์ โดยลงทุนไปกว่า 200 ล้านบาทในการสต็อกอะไหล่เครื่องบินไว้ที่สนามบินดอนเมือง จุดเด่นที่แม้ในช่วงโควิด นกแอร์มีการคืนเงินให้ผู้โดยสารแทบทุกราย ที่ขอรีฟันตั๋วเครื่องบิน เหลือเพียงราว 100-200 รายเท่านั้นที่ยังติดต่อไม่ได้  ต่างจากสายการบินอื่นที่ไม่มีการรีฟันตั๋วเครื่องบินคืนผู้โดยสาร ทำให้นกแอร์มีผู้โดยสารเลือกใช้บริการ และกลุ่มข้าราชการ ก็ใช้บริการของนกแอร์เพิ่มมากขึ้น เราจึงยังมองเห็นอนาคตนกแอร์อยู่ 

สายการบินดิ้น  บี้ลดต้นทุนเพิ่ม  ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์

แต่การตัดสินใจนำนกแอร์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็นเพราะนับจากเดือนก.พ.เป็นต้นมา นกแอร์ ประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะภาระค่าเช่าเครื่องบินที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 300 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ตอนนั้นรายได้ไม่เข้าเนื่องจากเป็นช่วงเคอร์ฟิวส์ และไม่สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้ และในช่วงแรกที่หลายสายการบินหยุดทำการบินในประเทศ แต่นกแอร์ ยังคงทำการบินอยู่ เพื่อรองรับการเดินทางที่มีความจำเป็น และการขนส่งเครื่องมือแพทย์ ตอนนั้นเราก็ยอมขาดทุนวันละ10-20 ล้านบาท เมื่อไม่มีรายได้ เพียงพอต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้น 

ประกอบกับที่ผ่านมาโควิด ส่งผลกระทบมาเป็นเวลา 5-6 เดือนแล้ว ก็ทำให้เราเลือกที่จะเข้าฟื้นฟูกิจการ เพื่อถือโอกาสหยุดภาระหนี้ก่อน เพื่อมาปรับโครงสร้างหนี้ และการทำแผนธุรกิจในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งนกแอร์ ได้ให้ทางบริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเซียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมเป็นผู้ทำแผนให้ ซึ่งปัจจุบันนกแอร์มีสินทรัพย์อยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท มีภาระหนี้อยู่ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเครื่องบินที่จะหมดสัญญาเช่าในอีก 7 ปี ที่นำเอาหนี้ในอนาคตมาคำนวณด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“แม้นกแอร์จะเข้าฟื้นฟูกิจการ แต่ในระหว่างเข้าสู่กระบวนการ นกแอร์จะยังคงทำการบินตามปกติ ไม่ได้มีการยกเลิกเที่ยวบินลงแต่อย่างใด โดยเฉลี่ยนกแอร์ ทำการบินไม่ต่ำกว่า 600 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไป-กลับ รวมอยู่ที่ 1,200 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งเรายังคงทำการบินได้ตามปกติ เพราะยังมีกระแสเงินสดอยู่พอสมควร เมื่อการเข้าฟื้นฟูกิจการ ช่วยทำให้ระงับการจ่ายค่าเช่าเครื่องบิน รวมถึงยังมีเงินกู้จากกลุ่มจุฬางกูรที่วงเงิน 3 พันล้านบาท เรายังใช้ไม่หมด และภายในช่วงปลายปีนี้ จะมีการเพิ่มเครื่องบินเข้ามาอีก 2 ลำด้วย”

ส่วนการที่เราเลือกรักษานกแอร์ไว้ และปล่อยมือจากสายการบินนกสกู๊ต ซึ่งมีบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของนกแอร์ ถือหุ้น 49.65% ของทุนจดทะเบียนหรือคิดเป็น 1,470 ล้านบาท เป็นเพราะแม้สายการบินสกู๊ต ของสิงคโปร์ ซึ่งถือหุ้น 49% ในนกสกู๊ต จะเสนอขายหุ้นดังกล่าวในนกสกู๊ตให้นกแอร์ในราคา 1 เหรียญ  แต่เราต้องแบกรับภาระหนี้ของนกสกู๊ตมาด้วยอีกหลายพันล้านบาท 

ประกอบกับในอดีตที่ต้องแยก 2 บริษัท เพราะนกแอร์ บินในประเทศ และนกสกู๊ตบินต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมานกแอร์ ก็มีบินต่างประเทศแล้ว  ทางครอบครัวก็ถือหุ้นในนกแอร์อยู่แล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้จึงเลือกเหลือเพียงบริษัทเดียวเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน และที่ผ่านมานกแอร์ ก็มีการทยอยรับพนักงานบางส่วนของนกสกู๊ตเข้ามาร่วมงานด้วยเช่นกัน นายวุฒิภูมิ กล่าวทิ้งท้าย

สายการบินดิ้น  บี้ลดต้นทุนเพิ่ม  ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการธุรกิจการบิน เผยว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาหลายสายการบินต่างๆของไทย ต่างประสบปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องอยู่แล้วเดิมแทบทั้งสิ้น ยกเว้น บางกอกแอร์เวย์ส,ไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ที่แม้มีกำไรแต่ก็หดตัวต่อเนื่อง  จากการแข่งขันที่รุนแรง และในปีนี้เมื่อมาเจอผลกระทบจากโควิด-19 ก็เป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ ที่อาจจะเห็นอีกหลายสายการบินจะอาจจะไปต่อไม่ได้ เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมีความเป็นไปได้น้อยมาก ขณะที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติที่เคยซัพพอร์ตเม็ดเงินให้อยู่ต่างก็ประสบปัญหาจากโควิดเช่นกัน

อีกทั้งโควิด ยังคงมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบที่ยาวนานกว่าธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวเหมือนเดิม ซึ่งล่าสุดสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) หรือไออาต้า ได้ออกมาปรับคาดการณ์ใหม่ ว่าระบุว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เเละต้องรอไปจนถึงปี 2567 กว่าที่จำนวนผู้โดยสารทั่วโลกจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโรคระบาด จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ว่าจะอยู่ในช่วงปี2566

จากสถานการณ์ของธุรกิจการบินในปัจจุบัน ล่าสุดสายการบินต่างๆ ยังคงเดินหน้าลดต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังทยอยกลับมาทำการบินได้เพียง20-30% เท่านั้น โดย ไทยไลอ้อนแอร์ ได้คืนเครื่องบินออกไปแล้วกว่า 20 ลำ เหลือฝูงบินอยู่ 11 ลำ  ส่วน ไทยสมายล์ ปัจจุบันมีเครื่องบิน 20 ลำ แต่กลับมาทำการบินได้เพียง 5 ลำ และมีการขยายโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินออกไปจนถึงสิ้นเดือนปี  ไทยแอร์เอเชีย ปัจจุบันกลับมาบินได้ 20 ลำ อีก 30 ลำยังจอดอยู่ เน้นออกโปรโมชั่นดึงกระแสเงินสด  การบินไทย เปิดโครงการใหม่ Together we can เปิดให้สมัครใจลดเงินเดือนและลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนถึงสิ้นปีนี้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 วันที่ 2-5 สิงหาคม 2563