ข้อเสนอดร.สามารถ “ผ่าทางตันบินไทย” ยุบไทยสมายล์ -ขายนกแอร์

13 พ.ค. 2563 | 03:04 น.

“สามารถ ราชพลสิทธิ์ "  มีข้อเสนอผ่าทางตัน” การบินไทย”   3ข้อ ยุบ" ไทยสมายล์/ควบรวม-ขายนกแอร์ "เหตุขาดทุนสูง ลุ้นครม.บิ๊กตู่ชี้ขาด" อุ้ม-ไม่อุ้ม"

 

 

 

 

เมื่อ”การบินไทย” หรือ บริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน) เป็นสายการบินรัฐวิสาหกิจ ที่มีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นกว่า 50%  ส่งผลให้ไม่อยู่ในข่ายล้มละลายเหมือน บริษัทเอกชนทั้งที่มีหนี้สินท่วมฟ้า2.4แสนล้านบาท และขาดทุน กว่า 1.2หมื่นล้านบาท (ข้อมูล31ธ.ค.ปี62)  ขณะข้อถกเถียงคนทั้งสองกลุ่ม ทั้งภาครัฐและคนในรัฐบาลด้วยกัน เห็นต่าง ระหว่าง อุ้มกับไม่อุ้มการบินไทย โดยมี ทางเลือก 2ทาง  ระหว่าง รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณเพิ่ม   เรื่องนี้  เป็นลักษณะพยุง หากการบินไทย ยังไม่สามารถหารายได้ เพื่อลดภาระหนี้ที่"พอกหางหมู" ได้  ไม่กี่เดือนก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิน อีกทาง ปล่อยให้การบินไทย เดินเข้าสู่ ศาลล้มละลายกลาง กระทรวงยุติธรรม  ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ล้มละลาย พ.ศ.2483 ก็อาจจะกระทบ ความเชื่อมั่นต่อตราสารหนี้ ของ รัฐวิสาหกิจด้วยกัน    แต่ในที่สุดแล้วพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ต้องเลือก ทางเลือกเดียว  ที่ในเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องชี้ขาด ว่าจะไปทางไหน    ซึ่งน่าจับตายิ่ง

 

สำหรับทางออก  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โฟสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัวตอนหนึ่ง ที่ระบุว่า  ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอให้ บมจ.การบินไทย (บกท.)พิจารณาดำเนินการต่อไทยสมายล์ ดังนี้

1. ยุบไทยสมายล์

หาก บกท.เห็นว่า ไม่มีทางพลิกฟื้นให้ไทยสมายล์กลับมามีกำไรได้ และหากเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องอาศัยไทยสมายล์ช่วยขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย หรือรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทยในลักษณะ Feeder เพื่อขนผู้โดยสารไปสู่จุดหมายปลายทางต่อไป บกท.ก็ควรพิจารณายุบไทยสมายล์ทิ้งไป จะทำให้ช่วย บกท.ลดการขาดทุนได้ถึงปีละประมาณ 20% สัดส่วนที่ลดลงมากขนาดนี้ จะทำให้ บกท.ตัวเบาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

2. ควบรวมไทยสมายล์กับ  บกท.

ในกรณีที่ บกท.เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเส้นทางของไทยสมายล์ไว้ เพื่อให้ขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย และรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทย ก็ควรพิจารณาควบรวมกิจการของไทยสมายล์เข้ากับ บกท. เป็นบริษัทเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าบริหารจัดการถูกกว่าแยกเป็น 2 บริษัท ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2531 เคยมีการควบรวมกิจการของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) เข้ากับการบินไทย เนื่องจาก บดท.ที่ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการขาดทุน ในขณะที่การบินไทยให้บริการเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการได้กำไร หลังจากควบรวมกิจการแล้ว ปรากฏว่าการบินไทยสามารถทำให้มีกำไรได้ทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ

 

 

 

"ดร.สามารถ" สะท้อนต่อว่า นอกจากนี้ บกท.ควรพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดทุนในบริษัทย่อยอื่นที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ด้วย เช่น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน บกท.ถือหุ้นอยู่ 13.28% สัดส่วนน้อยขนาดนี้ทำให้ บกท.ไม่มีอำนาจควบคุม ทั้งนี้ สัดส่วนนี้ลดลงจากเดิม 39% เนื่องจาก บกท.ไม่ยอมเพิ่มทุนตามที่มีการเพิ่มทุนเป็นระยะๆ นกแอร์มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปีเช่นเดียวกัน ในปีที่แล้ว (2562) ขาดทุน 2,051 ล้านบาท หาก บกท.เห็นว่านกแอร์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ บกท. ก็ควรขายหุ้นที่ถืออยู่ทิ้งไปทั้งหมด

ถ้า บกท.ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ และนกแอร์ รวมทั้งบริษัทย่อยอื่น เห็นทีจะหนีไม่พ้นที่ บกท.จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาดเสียเอง นั่นก็คือ บกท.จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีเสียงแอบกระซิบมาว่าได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท.ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็วๆ นี้ เป็นแนวทางที่ 10 หรือแนวทางสุดท้าย จากทั้งหมด 10 แนวทาง หาก บกท.ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางในแผนฟื้นฟูได้ประสบผลสำเร็จ ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี และ “รัก บกท.เท่าฟ้า” ครับ