ข่าวดีนำเข้าแรงงงานต่างด้าวได้แล้ว ข่าวร้ายค่า"ตรวจ-กักโรค"เฉียด2หมื่น 

23 ก.ค. 2563 | 03:45 น.

กระทรวงแรงงานแจง แนวทางนำเข้าแรงงานต่างด้าวยุคโควิด-19 ชี้นอกจากกระบวนการเข้าเมืองและการขออนุญาตทำงานเดิมแล้ว ต้องตรวจเชื้อและกักตัว 14 วัน ค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาท


กระทรวงแรงงานแจงแนวทาง นำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติจากเพื่อนบ้าน"เมียนมา ลาว และกัมพูชา" ที่เข้ามาทำงานตาม MOU หลังจากศบค.เห็นชอบตามเสนอ ผ่านช้องทางที่กำหนด โดยมาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุข ต้องให้ตรวจหาเชื้อ COVID-19 และกักตัว 14 วัน ก่อนออกใบอนุญาตทำงาน ซึ่งนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาทต่อคน
    
    

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)  เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563  ได้พิจารณาและเห็นชอบ แนวทางการดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาทำงานตาม MOU ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเสนอ
    

โดยเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิใบอนุญาตทำงาน (Re-Entry Visa) เพื่อเดินทางกลับประเทศแล้วยังไม่ได้กลับเข้ามา ประมาณ 69,235 คน  และ 2.แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ที่นายจ้างได้ยื่นหนังสือแสดงความต้องการ (Demand Letter) ไปที่ประเทศต้นทางแล้ว และนายจ้างยังต้องการนำเข้ามา แต่ไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ ประมาณ 42,168 คน  ให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด คือ การเตรียมตัวก่อนเข้ามาในประเทศ 
ข่าวดีนำเข้าแรงงงานต่างด้าวได้แล้ว ข่าวร้ายค่า"ตรวจ-กักโรค"เฉียด2หมื่น      

แรงงานต่างด้าวทั้งสองกลุ่มต้องได้รับหนังสือรับรองว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ และมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Travel)  ส่วนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีเป็นแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่มี Re-Entry Visa ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว เมื่อด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตเข้าประเทศและตรวจลงตราวีซ่าแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทันที ณ ด่านควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ)  
    

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานที่นายจ้างยื่นขอนำเข้าใหม่ เมื่อด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 และตรวจสุขภาพ 6 โรค ซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี (กรณีกิจการที่ไม่เข้าประกันสังคม) หรือประกันสุขภาพ 3 เดือน (กรณีกิจการต้องเข้าประกันสังคม) และเข้ารับการกักตัว 14 วัน  ในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ)  ซึ่งขณะที่อยู่ในสถานที่กักกันฯ จะมีการอบรมให้ความรู้ด้านกฎ ระเบียบ และการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยแก่คนต่างด้าวก่อนเข้าทำงาน ตามขั้นตอนการนำเข้าฯ เมื่อครบกำหนด 14 วัน จะได้รับการตรวจลงตราวีซ่าจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และได้รับใบอนุญาตทำงานจากศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้าง  
  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมบริหารแรงงานต่างด้าวหลังโควิด

ยกร่างมาตรการผ่อนคลายแรงงานต่างด้าว สกัดนำโควิด-19 เข้าประเทศ

หวั่นโควิดรอบ 2 คุมเข้มชายแดน สกัดแรงงานต่างด้าวเถื่อนทะลัก

เมื่อแรงงานต่างด้าวทั้งสองกลุ่มเข้ารับกักตัวครบตามกำหนดแล้วไม่พบเชื้อ นายจ้างสามารถรับแรงงานต่างด้าวไปทำงานได้ พร้อมรายงานให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ทราบ 
    

“ การที่ศบค. ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และอนุญาตให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงาน ตามระบบ MOU เนื่องจากความต้องการแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการในประเทศ ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ หลังจากกิจการต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะงานที่แรงงานไทยไม่นิยมทำ  
    

ทั้งนี้ การดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานต้องคำนึงความปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด  เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ และได้กำหนดช่องทางการเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา คือจังหวัดสระแก้ว  สัญชาติลาว คือจังหวัดหนองคาย และสัญชาติเมียนมา คือจังหวัดตากและระนอง โดยนายจ้าง ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ COVID-19  และการจัดสถานที่กักตัว 14 วัน ประมาณ 13,200-19,300 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน  ” นายสุชาติฯ กล่าว