เรื่อง “กล้วยๆ”

25 ก.ค. 2563 | 10:10 น.

คอลัมน์แบรนด์ สตอรีส์  กฤษณ์  ศิรประภาศิริ [email protected]

กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ มีบริษัทไทยที่ผมดูแลด้าน “ส่งออก” ทำธุรกิจผลิตข้าวโพดหวาน SWEET KERNEL CORN ส่งให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ TESCO วางกระจายขายใน SUPERMARKETS ทั่วเกาะเมืองผู้ดี

เป็น “ข้าวโพด” ที่ปลูกในอำเภอบ้านแพง นครพนมและจังหวัดใกล้เคียง อาศัย “แม่น้ำโขง” หล่อเลี้ยง “ข้าวโพด” ของเราจะต่างกับ “ข้าวโพดหวาน” ของสหรัฐ ที่ “นุ่ม” แทบละลายในปาก และเป็นที่นิยมแพร่หลาย

“ข้าวโพด” ของไทย ค่อนข้างจะ “หยาบ” แต่เคี้ยว “มัน” มี TEXTURE เป็นที่นิยมของ “วัยรุ่น” หนุ่มสาวของอังกฤษ

เรื่อง “กล้วยๆ”

เมื่อแรกที่ไทยผลิต “ข้าวโพด” ใส่กระป๋อง ได้มีความพยายามนำสินค้านี้ไปเสนอขายตลาดญี่ปุ่นที่ปกติบริโภค SWEET KERNEL CORN ของอเมริกา จำได้ว่าตอนไปเสนอขายทีแรก ลูกค้าญี่ปุ่นดูถูกและถามว่านี่ “ข้าวโพด” อาหาร “สัตว์” หรือของ “คน” (ฮา)

สินค้าข้าวโพดกระป๋องของไทยขายดีพอประมาณในตลาดอังกฤษ แต่วันดีคืนดี เราก็ได้รับจดหมายเชิญจาก TESCO ให้ไปประชุมปรึกษาหารือในระหว่าง SUPPLIERS ภูมิภาคนี้ที่ประเทศฮ่องกง

หัวข้อที่สำคัญคือ “การใช้แรงงานเด็ก” ซึ่ง TESCO ชี้แจงว่าเป็น “พลังของผู้บริโภค” โดยเฉพาะ “แม่บ้าน” ที่ถือป้ายประท้วงหน้าห้าง ซึ่ง TESCO จำเป็นต้องใส่ใจ ไม่งั้นเจอ “ประท้วง” ลูกค้าไม่เข้าห้าง

จำได้ว่า ในระหว่างประชุมมีผู้แทนจากประเทศหนึ่งท้วงว่า ประเทศของเขายากจน ถ้าไม่ให้ “เด็ก” ได้ทำงานในโรงงาน จะปล่อยให้ไปหากินเป็น “โสเภณี” ข้างถนนหรืออย่างไร

ที่เล่ามานี้ จะชี้ให้เห็นว่า “พลังผู้บริโภค” นั้นสำคัญ และเป็นเหตุให้ต่างประเทศบีบบังคับเราหลายๆ เรื่อง ในการทำการค้าระหว่างประเทศและที่สำคัญ อย่าลืมว่า “เขา” เป็น “ลูกค้า” ของเรา

นอกจาก “พลังผู้บริโภค” ยังมีองค์กรราชการของประเทศผู้นำเข้าที่พยายามปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศของเขา อย่างเช่น องค์กรอาหารและยาของสหรัฐ ซึ่งได้ชื่อว่า พิถีพิถัน เข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของชีวิตพลเมืองของเขา

บางครั้งไม่แค่เป็นเรื่อง “ความปลอดภัย” แต่อาจเป็น “เครื่องมือ” ของรัฐที่จะกีดกัน “สินค้า” ของประเทศที่เขาไม่ประทับใจใน “พฤติกรรม” (การเมือง ฯลฯ)

ไม่นานมานี้ (อีกเช่นกัน) FDA ของสหรัฐอเมริกา มีกฏเกณฑ์นำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ “ข้าว” ของไทย จะต้องโดน AUTOMATIC DETENTION (หมายถึงสินค้าจะโดน “กักกัน” เข้าประเทศไม่ได้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์อย่างเข้มงวดว่า “ปลอดภัย” ซึ่งจะต้องใช้ “เวลา” และใช้เงิน “สิ้นเปลือง”)

ผมเคยเข้าไปร้องเรียนถึง US FDA ในกรุง WASHINGTON เมื่อพยายามจะต่อสู้ให้ผลิตภัณฑ์ข้าว “เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ของบริษัทไทยรอดพ้นจากการจะโดน “กักกัน”

เวลานั้นสินค้าจากประเทศไทยโดนกัก แต่สินค้าจากประเทศจีน (ซึ่งผมรู้สึกว่า “สกปรก” และไม่ได้มาตรฐานอย่างสินค้าไทย) กลับผ่านฉลุย

จำได้ว่าเมื่อคุยกับเจ้าหน้าที่ของ US FDA ยังแกล้งแหย่เขาไปว่า ทำไมสินค้าจากประเทศไทย YOU ทำไมเข้มงวดนัก ขณะที่สินค้าจีน YOU กลับปล่อยผ่าน นี่เป็นประเด็นการเมืองหรือเปล่า

ดีที่เขาใจเย็น และพยายามอธิบายว่า การที่สหรัฐอนุญาตให้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ ถือว่าให้ PRIVILEDGE ประเทศนั้นๆ

เมื่อเราให้ PRIVILEDGE กับคุณแล้ว เราก็จำเป็นต้องมีการ “เฝ้าดู” (บ้าง)

ปัญหาการแบนสินค้า “กะทิ” จากไทยในห้างหลายห้างที่อังกฤษ ด้วยข้อหาการใช้ลิงเก็บมะพร้าว เป็นการ “ทารุณกรรมสัตว์” โดยการเรียกร้องของ องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) เป็นไปได้ว่าเกิดจาก “ความรักสัตว์” ของผู้บริโภคผู้ดี

จำได้ไหม ที่คนไทยส่วนหนึ่งเอาเป็นเอาตายกับเศรษฐีคนหนึ่งที่ล่าสัตว์ “เสือดำ” ในป่าไทย ขณะที่คนงานสาวของโรงงานหนึ่ง เดินลุยน้ำแล้วเสียหลักเอามือจับป้อมยามโดนไฟดูดตาย ไม่ค่อยมีคนสนใจ

ผมถามรุ่นน้องที่ฉลาดๆ ให้อธิบาย “ปรากฏการณ์” นี้ ซึ่งก็น่าฟังเป็นยิ่งนัก เขาอธิบายว่า “เสือดำ” มีน้อยใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่ “คน” มีมาก ประชากรจะล้นโลก (ฮา-อย่างเศร้าๆ)

นายห้างธนินท์ เจียรวนนท์ เคยเล่าให้เราฟังนานแล้วว่า แม้แต่การขนไก่ไปโรงฆ่า ในกรงต้องให้ไก่อยู่กันอย่างสบาย ไม่แออัด เป็นข้อเรียกร้องของลูกค้าต่างประเทศ

เป็นหน้าที่ของ “ทางการไทย” ที่จะต้องอธิบาย ต้องสร้างความเข้าใจ ในเวทีสากลครับ ว่าเราปฏิบัติกับลิงอย่างเลิศเลอเพียงใด ที่ลพบุรี ยังเลี้ยง “โต๊ะจีนลิง” กันเอิกเกริก ฯลฯ

ต้อง “คืนความสุข” ให้ลิงโดยพลัน (แม้ว่าเรื่องจริงจะไม่ค่อยได้ใช้ลิงทำงานแล้วก็ตาม)

จะแต่งเพลง “กล่อมลิง” ให้สักเพลง ก็น่ารักไปอีกแบบ 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563