ธ.ก.ส.เสนอบอร์ดใช้เงินซอฟต์โลนออมสิน ปล่อย เอสเอ็มอีเกษตรต่อ

20 ก.ค. 2563 | 08:59 น.

ธ.ก.ส.เตรียมเสนอบอร์ด 23 ก.ค.นี้ใช้เงินซอฟต์โลนออมสิน ปล่อยกู้เอสเอ็มอีเกษตรเพิ่ม หลังอกหักจากรอบแรก พร้อมจับมือ NIA หนุนสินเชื่อไร้ดอกเบี้ย 3 ปี วงเงินรวม13,000 ล้านบาท พัฒนาภาคเกษตรด้วยนวัตกรรม

ในงานลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม ระหว่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)(NIA) นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ก.ค.2563 ธ.ก.ส.จะประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม โดย ธ.ก.ส. จะเสนอเห็นชอบหลักการการใช้เงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารออมสินที่จะออกใหม่อีก 1 แสนล้านบาท 

ธ.ก.ส.เสนอบอร์ดใช้เงินซอฟต์โลนออมสิน ปล่อย เอสเอ็มอีเกษตรต่อ

ทั้งนี้การปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนรอบใหม่ จะเป็นการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรที่ไม่เข้าเงื่อนไขซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยมีการปรับรายละเอียดให้คลอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะต้องเป็นลูกค้ารายใหม่ ไม่มีหลักประกัน และไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่งจะต้องมีสัญญาเงินกู้ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2563 จากเงื่อนไขเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีสัญญาการกู้ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562

 

ซอฟต์โลนรอบใหม่ จะปล่อยให้กับคนที่เข้ามาขอก่อนก็ได้ก่อน เพราะธนาคารออมสินไม่ได้กันวงเงินให้โดยเฉพาะ ส่วนเงื่อนไขเงินกู้ของ ธ.ก.ส. จะเหมือนเดิม คือ ธนาคารออมสินจะปล่อยให้ ธ.ก.ส. 0.01% และ ธ.ก.ส. มาปล่อยกู้ต่อโดยปลอดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% และคาดว่าธนาคารจะเริ่มปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนได้ภายในต้นเดือนหน้า” 
 

ส่วนความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. กับ NIA ในครั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการ นวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย ให้กับผู้ประกอบการภาคเกษตรหรือผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและ Startup นำไปใช้ในการพัฒนาต้นแบบหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตได้จริงหรือพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตรหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม รวมวงเงิน 13,000 ล้านบาท หรือรายละประมาณ 5 แสนบาท ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรที่มีการใช้นวัตกรรมในการผลิต โดยคิดอัตราดอบเบี้ย MLR ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบัน MLR เท่ากับ 4.875% 

ธ.ก.ส.เสนอบอร์ดใช้เงินซอฟต์โลนออมสิน ปล่อย เอสเอ็มอีเกษตรต่อ

และสำหรับผู้ประกอบการที่มีโครงการที่มีนวัตกรรม มูลค่าเกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน MLR + 2% ต่อปี โดย NIA จะเป็นผู้สนับสนุนด้านดอกเบี้ยด้วยการชำระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบการธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการ
 

ด้านนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ยนั้น NIA จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้ประกอบการนวัตกรรม ในวงเงินสนับสนุนดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี สำหรับผู้กู้รายใหญ่ที่มีวงเงินกู้เกิน 20 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้รับผิดชอบวงเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นการร่วมผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้างและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ที่จะสามารถขอสินเชื่อดังกล่าวได้จะต้องเสนอโครงการนวัตกรรมมายัง NIA พิจารณาก่อนส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส.เพื่อประเมินสินเชื่อต่อไป