ร้องไม่เป็นธรรม ห้ามขายเหล้า-เบียร์ ผ่านออนไลน์

04 ก.ค. 2563 | 07:10 น.

TABBA ออกโรงโต้ บอร์ดนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ หลังมีมติห้ามขายเหล้า-เบียร์ ผ่านออนไลน์ ชี้ไม่เป็นธรรม จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน มั่นใจสามารถตรวจสอบได้

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย

โดยพบว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ต้องหยุดจำหน่ายและหันไปจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุ เวลา และสถานที่ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย และทำให้การบังคับใช้กฏหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นไปได้ยาก โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 90 วัน ถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเษกษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาะแล้ว ห้ามขายเหล้า-เบียร์ ออนไลน์ 

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยว่า สมาคมขอแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับมติการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะร่างประกาศดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งเสริมการเว้นระยะห่างทางสังคมท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal อีกทั้งยังเป็นการซ้ำเติมและสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราวในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งหมดนี้จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งกว่าเดิม พร้อมเรียกร้องให้มีการพิจารณายกเลิกร่างประกาศดังกล่าว

ธนากร คุปตจิตต์

“การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้นเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

นอกจากนี้ ร่างดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเมื่อไม่สามารถจำหน่ายทางออนไลน์ได้ ธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องปิดตัวลง กลายเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้ง ผู้ประกอบการที่ลักลอบดำเนินธุรกิจแบบผิดกฎหมาย ทั้งการจำหน่ายสินค้าปลอมหรือสินค้าหนีภาษี ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากการปิดกิจการของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องอีกด้วย

นายธนากร ย้ำอีกว่า การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้บริโภคในการเลือกหาสินค้าและบริการ สิทธิในการได้รับความปลอดภัยจากการซื้อสินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับบริการที่ดีที่สุด และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการหลีกเลี่ยงการเดินทาง

“การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้มีตรวจสอบอายุผู้ซื้อ การบันทึกข้อมูลผู้ซื้อ เวลาทำธุรกรรมซื้อขาย และการจัดส่งสินค้า ซึ่งไม่ตรงกับเหตุผลของการออก (ร่าง) ประกาศฯ ที่ว่า การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้นยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลจึงไม่มีความจำเป็นในการออก (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว”

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ผับ บาร์ ร้านอาหารต้องปิดให้บริการเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นานกว่า 3 เดือน พบว่า ส่งผลกระทบทำให้เบียร์ค้างสต๊อกจำนวนมาก โดยเฉพาะเบียร์ลีโอ ขวดเล็ก ขนาด 320 มล. ทำให้ผู้ผลิตและดีลเลอร์ต้องเร่งระบายสต๊อก ก่อนที่เบียร์จะหมดอายุ โดยนำมาขายล้างสต๊อก และกระตุ้นให้ร้านค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊วซื้อไปจำหน่ายแทนเบียร์ลีโอ ขวดใหญ่ ส่งผลให้เบียร์ลีโอขวดใหญ่ขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563