นายกฯต้องมุ่ง ทุ่มพยุงฐานราก

02 ก.ค. 2563 | 02:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3588 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค.63

นายกฯต้องมุ่ง

ทุ่มพยุงฐานราก

 

     สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ยาวนานกว่า 1 เดือน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 5 เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทั้งหมด คงเหลือไว้สำหรับพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยืดระยะเวลาออกไป 1 เดือนสิ้นสุดเดือนก.ค.เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยปลอดเชื้อโควิด-19 ในประเทศตามมาตรฐานนานาชาติสมบูรณ์ 100% ขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เปิดให้ประชาชนจากประเทศไทยเดินทางเข้ายุโรปอีกครั้งหนึ่ง

     หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง รัฐบาลคงต้องหันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง หลังจากการประเมินภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ตกต่ำถึงขีดสุดและมีผลต่อเนื่องไปที่ไตรมาส 3 โดยประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี)ปี 2563 หดตัวถึง 8.1% และมีแนวโน้มจะหดตัวมากกว่านั้น หากยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มกำลัง

     สถานการณ์เศรษฐกิจ ปากท้อง การค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ชายขอบอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งขาดสภาพคล่องในการต่อลมหายใจทางธุรกิจ และยังไม่พบมีหนทางในการหารายได้ใหม่ อย่าว่าแต่การหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ กระทั่งการหาเลี้ยงชีพหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ในภาวะสุดฝืด โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยวที่ทรุดตัวลงก่อนภาคอื่นและยังลอยคออยู่กลางทะเลที่มองไม่เห็นฝั่ง

     สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ประเมินอัตราการว่างงานสูงกว่าปีก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ถึง 8-12 เท่าของการว่างงานตามปกติและโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยตกตํ่าและอัตราการว่างงานสูงที่สุดในรอบ 20 ปี จากสมมติฐานจีดีพีหดตัว 5.3 % จะทำให้มีผู้ว่างงาน 10.35% ในไตรมาส 3-4 ต่อเนื่องกัน จากกำลังแรงงงานทั้งหมดในระบบ 38.19 ล้านคน หรือมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 4.6 ล้านคน หรือ 12% ของกำลังแรงงาน ซึ่งกรณีการประเมินล่าสุดที่จีดีพี หดตัว 8.1% อัตราการว่างงานย่อมเพิ่มสูงขึ้นอีก

     แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนและจำต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นคืนปกติ ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะความผันผวนเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยสถานการณ์วิกฤติรอบนี้มีผู้หลั่งไหลจากเมืองคืนสู่ภาคเกษตรร่วม 2 ล้านคน เราเห็นว่ารัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ ปรับตัวสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชนยืนอยู่ได้และเข้าสู่วิถี NEW NORMAL โดยเร็ว การจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณรัฐบาลจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด โครงการต่างๆ ต้องตอบสนองเป้าหมายตรงจุด เห็นผลเร็วและไม่รั่วไหล